วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

หลวงปู่เรือง อาภสฺสโร เขาสามยอด


หลวงปู่เรือง อาภสฺสโร
ปูชนียธรรมสถานเขาสามยอด จ.ลพบุรี

   ผู้เขียนหรือแอดมินนี้เคยมีโอกาสได้รู้จักหลวงปู่เรือง และรู้สึกเคารพรักท่านจากใจจริง เรื่องราวของหลวงปู่เรืองที่จะเล่าสู่กันฟังต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่ผู้เขียนได้พบได้เห็น ได้กราบเรียนสนทนากับหลวงปู่ และได้คุยกับผู้ที่บากบั่นขึ้นเขาไปกราบหลวงปู่เรืองถึงบนเขาสามยอด ซึ่งผู้เขียนได้รับข้อมูลที่น่าทึ่งมาจากท่านเจ้าของเรื่องเอง

   ช่วงที่หลวงปู่เรืองลงจากเขาสามยอดไปอยู่ที่อื่นหลายปีนั้น ช่วงที่หลวงปู่เรืองอยู่ที่อาศรมพรตภูผาโพธิสัตว์ อ.บุเปือย จ.อุบลราชธานี มีหลวงพี่อัญญาเป็นผู้ดูแลหลวงปู่เรือง ในช่วงนั้นเพื่อนบ้านตระกูลศรีสันติสุข ซึ่งบ้านเดิมอยู่ใกล้บ้านเก่าของผู้เขียน ได้เป็นผู้สร้างวัตถุมงคลถวายหลวงปู่เรือง ผู้เขียนเป็นผู้ออกแบบโดยหลวงปู่เรืองเป็นผู้สั่งให้สร้างเองทุกรุ่น เป็นวัตถุมงคลที่หลวงปู่เรืองตั้งใจสร้างเอง ครอบครัวศรีสันติสุขเป็นผู้ออกเงินและรับเป็นธุระไปดำเนินการให้หลวงปู่เรือง การสร้างทุกครั้งท่านระบุด้วยตัวท่านเองว่าให้สร้างเป็นอะไร หลวงปู่ตรวจแบบทุกรุ่นด้วยตัวเอง โดยเฉพาะเหรียญหลวงปู่เรืองยืนรุ่นแรกนั้น หลวงปู่ออกแบบเองโดยท่านสั่งให้ทำเป็นรูปท่านยืนถือไม้เท้ายาว แล้วให้ถ่ายรูปไว้เป็นแบบ ท่านสั่งให้ทำเป็นรูปท่านยืนถือไม้เท้ายาวแบบที่ท่านทำท่าให้ดู ท่านว่าทำเป็นรูปยืนมันกระฉับกระเฉงดี คนเอาไปใช้จะได้ตั้งตัวเร็วๆ

   วัตถุมงคลหลวงปู่เรืองที่เพื่อนบ้านตระกูลศรีสันติสุขสร้างถวายนั้น จะแจกเป็นทานทุกรุ่นทุกพิมพ์ หลวงปู่เรืองจะพูดเสมอว่า “นี่เป็นของกู” ผู้สร้างถวายนำกลับไปแจกเพียงเล็กน้อย บางรุ่นไม่ได้ไว้เลยด้วยซ้ำ ข้อนี้สามารถสอบถามได้จากหลวงพี่อัญญาศิษย์ของหลวงปู่เรือง

   หลวงปู่เรืองจะเก็บวัตถุมงคลชุดอาศรมพรตภูผาโพธิ์สัตว์ไว้กับตัวของท่านเอง เรื่องนี้มีศิษย์หลายท่านเคยเห็น ทั้งหลวงปู่ยังพูดเป็นนัยถึงความสำคัญของวัตถุมงคลชุดนี้หลายครั้ง ผู้ที่เคยได้รับแจกวัตถุมงคลชุดนี้ต่างก็พบกับประสบการณ์น่าอัศจรรย์ และเสาะหาเก็บสะสมกันอย่างเงียบๆมาตั้งแต่สร้างเสร็จใหม่ๆ บางอย่างถึงกับยอมซื้อหากันแพงๆ แต่ก็หาของได้ยากเพราะได้แจกออกไปมากแล้วคนหวงมาก ยิ่งหลวงปู่เรืองท่านพูดว่า “นี่เป็นของกู” ศิษย์ที่ทันรู้เห็นจึงหวงวัตถุมงคลชุดนี้กันแบบสุดๆ

   เดิมทีนั้นหลวงปู่เรืองยังมีผู้รู้จักไม่มากจะรู้กันในวงแคบ จะรู้จักหลวงปู่เรืองเฉพาะคนในบริเวณเขาสามยอดก่อน ชาวบ้านและทหารจะรู้ว่าบนเขาสามยอดซึ่งอยู่หลังโรงพยาบาทอานันทมหิดลมีพระอยู่รูปหนึ่ง โดยพระรูปนี้ธุดงค์มาอยู่ที่ถ้ำพระอรหันต์เมื่อพ.ศ.๒๔๙๓ ถ้ำนี้อยู่บนยอดเขาลูกที่สองของเขาสามยอด

พระหลวงปู่เรืองเขาสามยอดรุ่นแรกพ.ศ.๒๕๐๐

   หลวงปู่เรืองเริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๘ ในปีนั้นเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงเห็นได้ในเมืองไทย และในปีนี้นี่เองที่เมืองไทยเรามีการสร้างวัตถุมงคลที่อ้างถึงสุริยุปราคากันมากเป็นพิเศษ เรียกได้ว่าเป็นกระแสวัตถุมงคลรุ่นสุริยุปราคากันทั่วประเทศ ตอนนั้นเองที่มีข่าวว่ามีพระอาจารย์ที่ยังไม่ดังอยู่จ.ลพบุรี ชื่อหลวงปู่เรืองสร้างพระรุ่นสุริยุปราคากับเขาด้วย ตอนนั้นผู้เขียนเองยังนึกว่าคงเป็นพระอาจารย์โปรโมทของนักสร้างพระ ก็เลยยังไม่สนใจ


   แต่แล้วบังเอิญว่าคุณแม่ของแฟนผู้เขียนได้ฝากผู้เขียนไปทำบุญบูชาพระของหลวงปู่เรือง ผู้เขียนจึงค่อยดูข้อมูลวัตถุมงคลหลวงปู่เรือง พอเห็นรายละเอียดก็จับจุดได้เลยว่า วัตถุมงคลหลวงปู่เรืองรุ่นสุริยุปราคาไม่ใช่ของที่สร้างโปรโมทเพื่อเซ็งลี้ เพราะจำนวนการสร้างดูแล้วมันช่างน้อยเสียจนน่ารันทดกันเลยทีเดียว ต่อให้ขายได้หมดก็ได้เงินไม่มากเลย ซึ่งวัตถุประสงค์การสร้างก็น่าสงสารน่าร่วมบริจาคด้วย เพราะแค่จะเอาเงินไปซื้อแทงค์น้ำหรือทำบ่อเก็บน้ำฝนเล็กๆแค่นั้นเอง

เหรียญหลวงปู่เรืองรุ่นแรก นวโลหะ มีรอยจาร

ด้านหลังเหรียญรุ่นแรก สุริยปราคา พ.ศ.๒๕๓๘

    เมื่อผู้เขียนไปทำบุญรับวัตถุมงคลหลวงปู่เรืองจากที่หนึ่งในก.ท.ม. ก็ได้รับแจกรูปหลวงปู่เรืองใบเล็กมาด้วยหลายใบ นึกอย่างไรไม่ทราบเลยขอแบ่งจากแม่แฟนหนึ่งใบ แล้วก็เอาไปวางไว้บนพานพระเหนือโต๊ะทำงาน แล้วก็ไม่ได้สนใจอะไรอีก ต่อมาก็ลืมพระภิกษุชราภาพที่ชื่อหลวงปู่เรืองไปโดยสนิท


พระพิมพ์สมเด็จ พ.ศ.๒๕๓๘ สุริยปราคา

ด้านหลังพระพิมพ์สมเด็จ พ.ศ.๒๕๓๘

   เวลาผ่านไปประมาณเดือนกว่าๆ ผู้เขียนฝันเห็นหลวงปู่เรืองกำลังนั่งมองมา พอตื่นแล้วยังนึกไม่ออกว่าเป็นหลวงปู่เรือง ที่แปลกคือฝันแบบนี้ซ้ำๆกันอยู่สามครั้ง เลยเอะใจว่าพระรูปนี้น่าจะมีอะไรกับเราแน่ แต่ก็ยังนึกไม่ออกว่าคือหลวงปู่เรือง เพียงแต่คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเห็นที่ไหนมาก่อนแน่ๆ


พระพิมพ์สมเด็จปีพ.ศ.๒๕๓๘
เหรียญรุนสอง พ.ศ.๒๕๓๙
ด้านหลังเหรียญรุ่นสอง



   ขณะที่ผู้เขียนนั่งเขียนหนังสือเพลินๆ ปากกาเกิดหลุดมือหล่นกลิ้งเข้าไปใต้เก้าอี้ที่นั่งอยู่ เก้าอี้นี้เป็นแบบโซฟาเดี่ยวบุบวม ซึ่งตั้งติดพื้นทึบไม่มีช่องว่างให้มองเห็นใต้เก้าอี้ ผู้เขียนจึงต้องใช้ไม้บรรทัดขนาดยาวสอดเข้าไปเขี่ยของออกมา ปรากฏว่าเขี่ยได้เป็นปากกาที่หล่นและได้รูปหลวงปู่เรืองที่เคยวางไว้บนพาน ซึ่งไม่ทราบว่าหล่นไปอยู่ใต้เก้าอี้ตั้งแต่เมื่อไร


   พอเห็นรูปภาพหลวงปู่เรืองผู้เขียนรู้ทันทีเลยว่าที่ฝันเห็นหลวงปู่เรืองนั้น ท่านมาเตือนที่ไปนั่งทับรูปภาพของท่านนั่นเอง และรู้สึกเหมือนกับว่าท่านเรียกให้ไปพบ ขณะนั้นผู้เขียนนึกดีใจว่า พระอาจารย์ที่มีสมาธิจิตสูงเก่งของจริงยังมีเหลืออยู่

พระกริ่งหลวงปู่เรืองรุ่นแรก

ด้านหลังพระกริ่งรุ่งเรืองบารมี

   เมื่อถึงวันหยุดผู้เขียนจึงขับรถไปจ.ลพบุรีเพื่อไปกราบนมัสการหลวงปู่เรือง พอไปถึงเชิงเขาสามยอดหลังโรงพยาบาลอานันทมหิดล ก็พบว่ามีถุงทรายและกองทราย พร้อมทั้งมีท่อนไม้ไผ่วางไว้หลายอัน ตอนนั้นเวลาประมาณ ๑๐ โมงเช้า แต่อากาศร้อนไม่ใช่เล่น

   กองทรายและถุงทรายที่มีอยู่นั้น หมายความว่าให้ช่วยกันขนทรายขึ้นไปบนบนเขาเพื่อใช้ในการถมพื้นและก่อสร้างนั่นเอง กองไม้ไผ่ก็คือให้เอาไว้ช่วยค้ำเวลาเดินขึ้นเขา ผู้เขียนเคยเดินป่าฝ่าดงมาก่อน จึงพอรู้ว่าการแบกของขึ้นเขานั้นมันจะหนักขึ้นเรื่อยๆ จึงขนทรายขึ้นไปแค่ครึ่งถุง ระหว่างทางที่ขึ้นเขาก็เห็นมีกองทรายเทไว้เป็นระยะๆ บางที่เจอถุงทรายวางทิ้งไว้ทั้งถุง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าคนที่แบกถุงทรายขึ้นเขาไม่ประมาณกำลังตัวเอง พอแบกถุงทรายขึ้นเขาไปแล้วจึงไปไม่ไหว ต้องถิ้งถุงทรายเอาไว้ซะงั้น

   ทางขึ้นเขาไปหาหลวงปู่เรืองนั้นต้องนับว่าทุลักทุเลไม่น้อย มีช่วงที่เป็นทางชันมาก แถมยังไม่มีร่มเงาให้นั่งพักบังแดดเลย เพราะภูเขานี้เป็นภูเขาหินเป็นส่วนใหญ่หาดินทำยายาก ต้นไม้ก็อาศัยนั่งพิงหลังไม่ได้ เพราะดันเป็นต้นงิ้วทั้งนั้นหนามแหลมเปี๊ยบ แดดก็ร้อนมาก แล้วยังบังเอิญว่าทิศทางที่จะขึ้นเขาลูกแรกไปนั้น ยังเป็นด้านบังลมเอาเสียอีก จึงร้อนแดดจัดแบบไม่มีลมช่วยระบายความร้อนเลย


พระปิดตารุ่นรุ่งเรืองบารมี

ด้านหลังพระปิดตา

พระปิดตารุ่นรุ่งเรืองบารมี

ด้านหลังพระปิดตาหลวงปู่เรือง

   หลวงปู่เรืองอยู่บนยอดเขายอดที่สอง จึงต้องขึ้นไปที่ยอดเขาลูกแรกก่อน ช่วงใกล้ถึงยอดเขานั้นจะชันเอามากๆ ทหารต้องมาปรับพื้นที่ทำทางเดินและบันใดไว้บางช่วง

   พอขึ้นมาถึงยอดเขาลูกแรกแล้ว จะเป็นทางเดินลัดเลาะไปตามไหล่เขาเพื่อไปยอดเขายอดที่สอง ช่วงนี้ค่อยยังชั่วเพราะเส้นทางเริ่มมีต้นไม้ พอเดินไปเรื่อยๆจะเข้าสู่ดงต้นไผ่ จะมีลิงมาเฝ้ามองดูจนกระทั่งเข้ามาแย่งของกิน นอกจากนี้ยังมีงูเพราะเป็นป่าไผ่รกๆ ทางเดินจะเดินไปได้สบายๆทางขึ้นๆลงๆสลับกันไป เส้นทางนี้จะไปถึงยอดเขายอดที่สองที่หลวงปู่เรืองท่านพำนักอยู่

   ในระหว่างทางที่ขึ้นเขาไปนั้น จะมีคนเดินลงเขาสวนทางมาเป็นพักๆ ดูยิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อสอบถามดูก็ได้ความว่ามากราบนมัสการหลวงปู่เรือง ที่น่าแปลกก็คือแทบทั้งหมดไม่ได้เป็นคนเล่นพระเครื่องราง จะเป็นชาวบ้านคนทำมาหากินทั่วไป และที่ขึ้นเขามาหาหลวงปู่เรืองก็เพราะฝันถึงหลวงปู่เรือง แล้วมาเห็นรูปท่านในหนังสือ จึงถามทางมาหาหลวงปู่เรืองจนพบได้ในที่สุด

   ผู้เขียนแบกถุงทรายขึ้นไปถึงบนยอดเขายอดที่สอง ก็พบหลวงปู่เรืองท่านนั่งอยู่ มีพระสงฆ์อีกรูปหนึ่งนั่งยิ้มมองมาที่ผู้เขียน ท่านชื่อพระมหาเสรีเป็นศิษย์หลวงปู่เรือง พระมหาเสรีศิษย์หลวงปู่เรืองบอกว่า หลวงปู่เรืองเพิ่งมานั่งเหมือนนั่งรอก่อนที่ผู้เขียนจะมาถึงราวๆสิบนาที ท่านสั่งให้เตรียมน้ำดื่มเอาไว้ด้วย




พระปิดตาจิ๋วเนื้อเงินหลวงปู่เรือง

ด้านหลังพระปิดตาจิ๋ว

   เมื่อได้กราบนมัสการหลวงปู่เรืองแล้ว จึงนั่งสนทนาสัพเพเหระ และเล่าให้หลวงปู่ฟังว่าฝันเห็นหลวงปู่เรืองเลยมากราบนมัสการ ผู้เขียนไม่ได้เล่าว่านั่งทับรูปของท่าน หลวงปู่เรืองท่านพูดทันทีว่า “มึงมามัวนั่งทับรูปกูอยู่ได้ตั้งหลายวัน ไม่รีบมาหากูเร็วๆ” นี่ผู้เขียนเจออภินิหารหลวงปู่เรืองตั้งแต่แรกที่พบท่านกันเลย

   หลังจากวันนั้นผู้เขียนได้ไปกราบหลวงปู่เรืองเดือนละสองครั้งคืออาทิตย์เว้นอาทิตย์ ได้คุยกับคนที่ขึ้นเขามากราบหลวงปู่เรืองหลายๆท่าน จึงได้รับฟังประสบการณ์อันน่าอัศจรรย์ใจของหลวงปู่เรืองจากเจ้าของเรื่องโดยตรง ไม่ใช่ได้ฟังชนิดแบบเขาว่าคนโน้นเล่าว่าคนนี้เล่าว่า ซึ่งเขาเป็นใครคนไหนก็ไม่รู้

   ประสบการณ์ที่ได้ยินมาจากเจ้าของเรื่องเองมีทั้งรถพลิกคว่ำแต่คนไม่เป็นอะไร โดนแทงไม่เข้า โดนยิงไม่เข้ายิงไม่ถูกยิงไม่ออก ค้าขายดี หน้าที่การงานดีเจริญรุ่งเรือง ผู้เขียนได้ยินมากับตัวหลายเรื่อง ผู้เป็นเจ้าของเรื่องเป็นประชาชนทั่วๆไป

ผ้ายันต์หลวงปู่เรือง

ผืนนี้หลวงปู่เรืองจารหัวใจเศรษฐีเพิ่มให้

ผ้าพิมพ์ขมิ้นลายฝ่ามือหลวงปู่เรืองรุ่นแรก

ผ้าพิมพ์ขมิ้นลายฝ่าเท้าหลวงปู่เรืองรุ่นแรก

   ในช่วงปีพ.ศ.๒๕๓๘ - ๒๕๔๐ วัตถุมงคลหลวงปู่เรืองได้รับความนิยมทุกรุ่น ชื่อเสียงของหลวงปู่เรืองโด่งดังไปทั่วประเทศ ผู้ที่เคราพนับถือหลวงปู่เรืองยังมีชาวมาเลเซีย สิงคโปร์อีกไม่น้อย เมื่อหลวงปู่เรืองดังแล้วก็เป็นธรรมดาที่ใครๆก็อยากสร้างวัตถุมงคลของท่าน ทางเขาสามยอดต้องมีประกาศออกมาว่าจะสร้างเป็นรุ่นสุดท้ายและจะไม่มีการให้สร้างอีก จึงเรียกวัตถุมงคลรุ่นนี้ว่ารุ่นทิ้งทวน

   แต่แล้วการประกาศเช่นนี้ก็ไม่เกิดผล เพราะยังมีคนสร้างวัตถุมงคลมาขอให้หลวงปู่เรืองปลุกเสกอยู่นั่นเอง ทางเขาสามยอดจึงต้องเปลี่ยนเป็นสร้างวัตถุมงคลปีละครั้ง

   ผู้เขียนเคยกราบเรียนสอบถามหลวงปู่เรืองเรื่องการเลิกสร้างวัตถุมงคล ท่านว่าท่านไม่ต้องใช้เงินเพราะอยู่บนเขา และบนเขาก็ไม่มีพื้นที่จะสร้างอะไรแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะสร้างวัตถุมงคลอะไรอีก


รุ่นทิ้งทวนเนื้อผงผสมว่าน

   ต่อมาหลวงปู่เรืองให้ผู้เขียนเป็นธุระเขียนอะไรบางอย่างทำเป็นสมุดข่อยให้ท่าน ท่านว่าไม่มีแบบให้เขาดู ผู้เขียนจึงจัดทำตามที่ท่านสั่ง ท่านยังว่า ถ้ากูลงเขาไปแล้ว มึงต้องเป็นธุระให้กูอีก ตอนนั้นผู้เขียนยังนึกว่าท่านพูดสัพยอกเล่นเลยไม่ได้คิดอะไรไม่รู้ความหมายของท่าน


   วันหนึ่งผู้เขียนกับเพื่อนรุ่นน้องไปกราบหลวงปู่เรือง อยู่ๆหลวงปู่เรืองก็พูดขึ้นว่า “มึงมาก็ดีแล้ว มึงมาเรียนคณิตศาสตร์กับกู”  แล้วหลวงปู่ให้ปิดประตูเพื่อไม่ให้คนอื่นมายุ่ง

   คณิตศาสตร์ที่หลวงปู่เรืองว่าก็คือคิดเลขหวยนั่นเอง เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าท่านสนับสนุนเรื่องหวย หลวงปู่เรืองท่านสงสารคนที่เดือดร้อนจนต้องมาขอหวยจากท่าน ท่านอธิบายให้ผู้เขียนฟังว่า ตอนท่านยังอยู่ถ้าเดือดร้อนจริงๆมาขอเลขจากท่าน ท่านก็พอสงเคราะห์ได้ แต่ถ้าท่านล่วงลับไปแล้วจะไปพึ่งใคร ท่านจึงคิดวางแบบคำนวณเลขออกมา ท่านว่าไม่มีญาณก็ใช้เลขที่ท่านคิดนี้หาหวยเอา ถ้าพูดแบบเข้าใจง่ายๆก็คือหลวงปู่เรืองคิดสูตรเลขหวยให้คนรุ่นหลังเอาไว้ใช้นั่นเอง

   หลวงปู่เรืองปิดประตูกุฏิสอนคณิตศาสตร์ให้ผู้เขียน เพื่อนรุ่นน้อง(ปัจจุบันบวชนานเกือบ๒๐ปีแล้ว)ที่ไปด้วยจึงพลอยได้เรียนด้วย


รอยจารของหลวงปู่เรือง

   คณิตศาสตร์ของหลวงปู่เรืองนั้น สำคัญที่บรรทัดแรกที่หลวงปู่กำหนดชุดเลขไว้ ชุดเลขนี้จะยาวเหยียดเกินสิบตัวไปมาก ที่มาที่ไปของชุดเลขนี้ผู้เขียนลืมไปแล้วเพราะประมาท แต่คิดว่าถ้าพยายามคิดก็น่าที่จะคิดออก เพราะตอนนั้นหลวงปู่เรืองบังคับให้ลงมือคำนวณต่อหน้าท่านเลย แถมให้ทำซ้ำๆอยู่หลายรอบ ในครั้งแรกนี้ท่านสอนให้หาเลขท้ายสองตัว ซึ่งสถิติเป็นที่น่าพอใจมาก

   หลังจากที่หลวงปู่เรืองสอนคณิตศาสตร์ให้แล้ว ต่อมาสักสองเดือนหลวงปู่เรืองได้กวดวิชาติวเข้มให้อีก ท่านบอกว่าเลขสองตัวบางทีมันไม่พอมันได้น้อย ต้องเป็นเลขสามตัว ท่านให้นั่งเรียนคณิตศาสตร์กับท่านอีก คราวนี้ยากกว่าเดิมมาก เรียกว่าคิดกันจนตาลายไปหมด หลวงปู่เรืองท่านสั่งให้ทำซ้ำๆกันจนท่านพอใจ เลขที่คิดได้คราวนี้จะเป็นเลขสามตัว สถิติก็น่าพอใจ หลวงปู่เรืองว่าแทงด้วยเงินที่เท่าๆกัน ถูกบ้างผิดบ้างแต่รับรองว่ารวมแล้วไม่ขาดทุน ท่านว่าตั้งตัวได้หรือหมดหนี้สินก็พอแล้ว แทงหวยถูกมากๆจะก่อเวรกับเจ้ามือ


   วิธีคิดเลขนั้น หลวงปู่เรืองท่านให้เขียนเลขแถวแรกตามที่ท่านบอก แล้วก็ลบๆบวกๆไปทีละบรรทัดจนยาวเหยียด จำนวนบรรทัดนี้บางทีล่อเข้าไปเกือบร้อยบรรทัด ความสำคัญอยู่ที่เลขบรรทัดแรก ท่านย้ำความสำคัญว่าเป็นเลขตั้งต้นอย่าทำหาย แต่ภายหลังผู้เขียนก็ทำหาย ทั้งตอนที่หายก็ยังไม่นึกที่จะรีบๆเขียนชุดเลขนี้ขึ้นมาใหม่ ซึ่งตอนนั้นยังจำได้แม่น มัวนึกแต่ว่าแผ่นกระดาษชุดเลขหลวงปู่เรืองนี้ที่รุ่นน้องเรายังมีอยู่ แต่ปรากฎว่ารุ่นน้องก็คิดแบบเดียวกับผู้เขียน กระดาษที่คิดเลขต่อหน้าหลวงปู่เรืองจึงหายไปอย่างน่าเจ็บใจ

   เพื่อนบ้านตระกูลศรีสันติสุขได้ไปกราบหลวงปู่เรือง เพราะเชื่อในการันตีที่ผู้เขียนยืนยันว่าหลวงปู่เรืองคือพระดีของแท้ ครอบครัวนี้เป็นคนใจบุญได้เป็นธุระจัดของไปถวายหลวงปู่เรืองอยู่เนืองๆ ต่อมาหลวงปู่เรืองลงจากเขาไปอยู่ที่อื่น ผู้เขียนนึกตามได้ทันว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ท่านเคยบอกเป็นนัยๆ


   เมื่อหลวงปู่เรืองไปพำนักที่อาศรมพรตภูผาโพธิสัตว์ ซึ่งหลวงพี่อัญญาศิษย์หลวงปู่เรืองเป็นเจ้าสำนัก ช่วงนี้ตระกูลศรีสันติสุขมีพี่ใหญ่เฮียหมูคุณป้อม ได้ตามไปทำบุญอยู่เนืองๆ หลวงปู่เรืองให้ความไว้วางใจสั่งให้เป็นธุระไปจัดทำวัตถุมงคลมาแจกเป็นทานหลายครั้ง ผู้สร้างแบ่งมาจำนวนน้อยมากเพื่อแจกกันในหมู่ญาติมิตร การสร้างวัตถุมงคลในช่วงนี้ผู้เขียนรู้รายละเอียดดี เพราะเป็นผู้เขียนแบบให้ทุกครั้ง

   วัตถุมงคลที่สร้างมีทั้งผ้ายันต์ พระเนื้อผง เหรียญ เชือกมงคลขนาดคล้องคอและข้อมือ ตะกรุด รูปภาพ

   ผ้ายันต์ครั้งแรกทำเป็นผ้ายันต์สีเหลือง เป็นยันต์มงกุฎพระพุทธเจ้ากับยันต์บารมีสามสิบทัศ และมีผ้ายันต์ผืนใหญ่รูปหลวงปู่เรืองยืนถือไม้เท้า มียันต์มงกุฎพระพุทธเจ้า ยันต์บารมีสามสิบทัศ และเสือหมอบซ้ายขวา ต่อมาทำเป็นยันต์ปราสาทพระสีวลีผืนใหญ่และเล็ก ผ้ายันต์ทุกแบบหลวงปู่เรืองจะเอามาพันกับรัดประคดแล้วคาดไว้เสมอ


ผ้ายันต์ผืนใหญ่รูปหลวงปู่เรืองยืน
ผ้ายันต์มงกุฏพระพุทธเจ้า หลวงปู่เรือง

ผ้ายันต์บารมีสามสิบทัศ หลวงปู่เรือง
ผ้ายันต์ปราสาทพระสีวลี หลวงปู่เรือง


   การสร้างผ้ายันต์นั้นเริ่มจากผู้เขียนเป็นธุระเขียนแบบให้ พี่ใหญ่เฮียหมูคุณป้อมเป็นผู้ดำเนินการ คุณป้อมไปสั่งทำบล็อกสกรีน เมื่อได้บล็อกสกรีนมาแล้ว คุณป้อมจึงลงมือสกรีนผ้ายันต์เอง มีเฮียเม้งเป็นผู้ช่วย ทั้งหมดเป็นการทำด้วยใจศรัทธาจนทำเสร็จ เนื่องจากไม่เคยสกรีนผ้ามาก่อนการสกรีนผ้ายันต์จึงทุลักทุเลเป็นอย่างยิ่ง แต่คุณป้อมก็อุตสาหะทำจนสำเร็จ ผ้ายันต์นี้หลวงปู่เรืองชอบใจมาก
      
  หลวงปู่เรืองสั่งให้ทำเป็นเหรียญรูปท่านยืนถือไม้เท้ายาวอีกด้วย ท่านว่ามันกระฉับกระเฉงดี ศิษย์เอาไปใช้จะได้ตั้งตัวกันได้ไวๆ เหรียญรุ่นนี้ด้านหลังเป็นยันต์ของท่าน และมีรูปเสือเผ่น ซึ่งเสือเป็นปีนักษัตรที่ท่านเกิด เหรียญรุ่นนี้ทำต่อเนื่องคราวทำผ้ายันต์ แต่เหรียญทำเสร็จทีหลัง

เหรียญนวโลหะหลวงปู่เรืองยืนรุ่นแรก

ด้านหลังเหรียญหลวงปู่เรืองยืน

   นอกจากนี้ยังทำเป็นพระผงสะดุ้งกลับ หลวงปู่เรืองท่านว่าจะได้กลับร้ายกลายเป็นดี พระพิมพ์นี้ทำเป็นพระหูยานสะดุ้งกลับประทับบนดอกบัว ที่ด้านล่างมีบาตรห้าใบ ตรงบาตรห้าใบนี้ผู้เขียนทำการเขียนแบบให้มีทรัพย์สมบัติล้นออกมา แต่คนแกะแม่พิมพ์นึกว่าเป็นบาตรมีอาหารเต็ม พระพิมพ์นี้ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อพรหมวัดขนอนเหนือ จ.พระนครศรีอยุธยา

   เนื้อพระพิมพ์นี้ได้รวมสิ่งมงคลเอาไว้มาก มีผงยาอายุวัฒนะของหลวงปู่เรือง ผงอิธะเจที่หลวงปู่เรืองปลุกเสกมาอย่างดี มีกระเบื้องพระอุโบสถหลวงพ่อโสธรของจริง และที่พิเศษอย่างยิ่งคือมีชิ้นส่วนปูนที่กะเทาะตอนซ่อมขององค์หลวงพ่อโสธร ที่ด้านหลังพระโรยไว้ด้วยเส้นเกศาของหลวงปู่เรือง

พระผงสะดุ้งกลับหลวงปู่เรือง

ด้านหลังพระผงสะดุ้งกลับหลวงปู่เรืองมีเส้นเกศา

   ต่อมาได้ทำเป็นพระผงสี่เหลี่ยมพิมพ์นาคปรกลพบุรี พระพิมพ์นี้ได้ให้ช่างไก่เป็นผู้ปั้นพิมพ์ เนื้อพระใช้มวลสารที่เหลือจากการสร้างพระผงสะดุ้งกลับ และมวลสารที่หลวงปู่เรืองมอบเพิ่มให้ สำหรับพระผงพิมพ์นี้ผู้สร้างถวายแทบไม่ได้นำกลับมาเลย ได้มอบถวายหลวงปู่เรืองเกือบหมด ขอแบ่งไว้เป็นที่ระลึกน้อยมาก ขนาดผู้เขียนออกแบบเองยังไม่มี จะถ่ายรูปก็ยังหาพระไม่ได้เลย

    เนื่องจากการสร้างวัตถุมงคลทุกครั้งนั้น ครอบครัวตระกูลศรีสันติสุขเป็นผู้ออกเงิน ผู้เขียนแค่ช่วยแรงงานเขียนแบบพระและยันต์ เมื่อหลวงปู่เรืองอธิษฐานจิตปลุกเสกแล้ว ทางครอบครัวศรีสันติสุขมีน้ำใจอุตส่าห์ขอพระมาให้ผู้เขียนด้วย ผู้เขียนจึงเกรงใจมากที่ไม่ได้ออกสตางค์บ้าง พอหลวงปู่อยากได้พระเครื่องปางลีลา ผู้เขียนจึงขอเป็นคนออกเงินในส่วนนี้เอง เพราะครอบครัวศรีสันติสุขรับภาระไปมากแล้ว

    พระปางลีลาที่สร้างนี้ใช้ผงวิเศษมวลสารเหมือนที่ทำทุกครั้ง คือมีผงยาอายุวัฒนะหลวงปู่เรือง ผงยาจินดามณีที่หลวงปู่เรืองปลุกเสก ผงกระเบื้องพระอุโบสถหลวงพ่อโสธร ผงปูนองค์หลวงพ่อโสธร ทำเป็นพระปางลีลาแบบพระทุ่งเศรษฐี โดยทำเป็นลีลาทุ่งเศรษฐีสองหน้า คือมีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ผู้เขียนได้กำชับช่างให้ใส่มวลสารผงวิเศษให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะเหตุนี้เองจึงเปลืองผงวิเศษมาก ไปๆมาๆเลยทำพระลีลาทุ่งเศรษฐีสองหน้าได้เพียง ๑,๐๑๒องค์ จากที่ตั้งใจว่าน่าจะทำได้สัก ๕,๐๐๐ องค์


พระลีลาทุ่งเศรษฐีหลวงปู่เรือง

   หลวงปู่เรืองชอบพระพิมพ์นี้มาก ผู้ที่อยู่ในตอนที่หลวงปู่เรืองปลุกเสกพระเล่าว่า หลวงปู่เรืองหยิบพระลีลาทุ่งเศรษฐีมาดูแล้วหัวเราะชอบอกชอบใจ ตอนที่หลวงปู่เรืองอธิษฐานจิตเสร็จและมอบพระลีลาทุ่งเศรษฐีมาให้นั้น หวยงวดนั้นออก ๐๑๒ ตามสามตัวท้ายของจำนวนพระพอดี เรื่องนี้จะแบบบังเอิญหรืออัศจรรย์ก็ไม่อาจทราบได้ คนที่รู้เรื่องจำนวนพระพิมพ์นี้ถูกหวยกันมาก โดยเฉพาะคนที่มาขอพระพิมพ์นี้จากผู้เขียน(ผู้เขียนได้มาร้อยกว่าองค์เล็กน้อย)

   เรื่องมวลสารของพระผงทุกรุ่นนั้น ที่ว่าเป็นยาอายุวัฒนะหลวงปู่เรืองก็เพราะว่า หลวงปู่เรืองมียาอายุวัฒนะดีอยู่ตำรับหนึ่ง หลวงปู่เรืองก็ฉันยาตำรับนี้เองด้วย ท่านได้บอกตำรับให้ศิษย์ไปทำใช้กัน ความจริงยาอายุวัฒนะแบบของหลวงปู่เรืองนี้ ท่านเล่าให้ฟังว่าต้องกินสองตำรับ ตำรับแรกเรียกว่ายาเปลี่ยนร่าง ตำรับที่สองคือยาอายุวัฒนะ ท่านว่าให้กินยาเปลี่ยนร่างก่อนในระยะแรก แล้วค่อยกินยาอายุวัฒนะ

   ครอบครัวศรีสันติสุขได้เคยเอาผงยาจินดามณีที่ทำตามตำราเดิม(ผู้เขียนเคยคุยเรื่องตำราทางท่านอาจารย์นิรันดร์ แดงวิจิตร อดีตพระเลขาสมเด็จพระสังฆราชแพ และตำราหลวงปู่ทองอยู่วัดท่าเสา)ไปให้หลวงปู่เรืองปลุกเสก พอหลวงปู่เรืองเห็นยาจินดามณีท่านก็ว่า “เฮ้ย ยามึงดีกว่ายากูอีก” ครอบครัวศรีสันติสุขจึงถวายยาจินดามณีให้หลวงปู่เรือง ซึ่งท่านก็ฉันเป็นประจำ โดยบางคราวไม่ได้ปั้นเม็ด แต่หลวงปู่เรืองเอาผงยาจินดามณีใส่กระปุกแล้วเติมน้ำผึ้งผสมให้เข้ากัน เวลาฉันยาจินดามณีก็ใช้ช้อนตักทีละนิด ยาจินดามณีที่หลวงปู่เรืองนี้ พอจะหมดก็ทำใหม่ไปถวายท่าน

   ยาจินดามณีนี้มีที่ปั้นเป็นลูกอมไว้จำนวนไม่มาก แจกกันไปเป็นศิริมงคลและใช้เป็นยาจินดามณียามคับขัน แต่ปรากฏว่าคนที่ได้ลูกอมยาจินดามณีไป ไม่มีใครที่เอาไปกินเลย ต่างหวงแหนใช้เป็นวัตถุมงคลซึ่งมีประสบการณ์เมตตามหานิยมมหาเสน่ห์มหาโชคลาภ ทั้งยังคุ้มครองป้องกันสารพัดภัย


ลูกอมจินดามณีหลวงปู่เรือง

   มีเรื่องน่าแปลกใจเรื่องลูกอมอีกชุดหนึ่งของหลวงปู่เรืองคือ คุณป้อมฝันเห็นหลวงปู่เรืองมาบอกว่า จะให้ลูกอมสองลูก คุณป้อมได้โทรศัพท์ไปเล่าให้หลวงพี่อัญญาฟัง หลวงพี่อัญญาจึงรีบเอามวลสารต่างๆมาปั้นลูกอมไว้หลายลูก ปรากฏว่าหลวงปู่เรืองเห็นเข้า ท่านว่า “กูจะให้ลูกอมมันสองลูก ดันมาปั้นไว้เกิน”

   ในช่วงหนึ่งทางจ.อุบลราชธานีมีข่าวลือว่ามีผีปอบอาละวาดหนัก ประชาชนต่างพากันมาขอวัตถุมงคลจากหลวงปู่เรืองเพื่อกันผี อยู่ๆหลวงปู่เรืองก็พูดว่าอย่างนั้นไปทำผ้ายันต์หนุมาน ทางตระกูลศรีสันติสุขเป็นผู้สร้างถวายอีกเช่นเคย หลวงปู่เรืองท่านว่าให้โยมกรุงเทพมันเขียนมามันรู้เรื่อง

    ครั้งนี้จึงทำเป็นผ้ายันต์หนุมานสีแดงผืนใหญ่ร่วมสองฟุต มีผืนเล็กอีกจำนวนหนึ่ง คุณป้อมเป็นผู้สกรีนผ้ายันต์ มีเฮียเม้งเป็นลูกมือ ยันต์เป็นรูปหนุมานแบบตำราโบราณ มีสี่พักตร์(เห็นสามหน้า)แปดกร ถืออาวุธตรีเพชร พระขรรค์ หอก ดาบ จักร กระบอง ตรีศูล และกระบองตาล เมื่อหลวงปู่เรืองปลุกเสกแล้วท่านว่าป้องกันผีได้ทุกชนิด ผ้ายันต์หนุมานชุดนี้ผู้ที่ได้ไปรายงานมาว่า บ้านไหนมีข่าวว่าผีอาละวาดหรือผีปอบลง พอถือผ้ายันต์หนุมานหลวงปู่เรืองเข้าไปเท่านั้น ผีที่แผลงฤทธิ์สิงคนอยู่ก็หนีออกไปเลย นอกจากนี้ผ้ายันต์หนุมานหลวงปู่เรืองยังมีประสบการณ์ทางคุ้มครองป้องกันภัยได้สารพัด ปัจจุบันหายากมาก


ผ้ายันต์หนุมานแผลงฤทธิ์หลวงปู่เรือง


   ผ้ายันต์หนุมานแผลงฤทธิ์ส่วนใหญ่แจกในวันคล้ายวันเกิดหรือแซยิดของหลวงปู่เรือง มีเชือกไหมห้าสีแบบคล้องคอและข้อมือให้ด้วย เชือกไหมนี้ไม่ใช่ว่าไปซื้อสำเร็จรูป แต่คุณป้อมกับครอบครัวได้ลงมือมัดปมเชือกที่ดูเหมือนตะกรุดเอง ไหมห้าสีชุดนี้มีประสบการณ์มาก เนื่องจากเชือกไหมห้าสีนี้สวยงามมาก ใครๆต่างก็มาขอจากหลวงปู่เรือง และขอจากครอบครัวศรีสันติสุข แม้แต่ที่ผู้เขียนก็มีคนตามมาขอไป จนผู้เขียนเหลือเพียงอย่างละหนึ่งเส้น

   หลวงปู่เรืองได้เขียนยันต์มหาละลวยใส่แผ่นกระดาษแผ่นใหญ่ แล้วฝากครอบครัวศรีสันติสุขมาให้ผู้เขียนเป็นแบบ ในรูปยันต์มีสูตรยันต์ด้วย ท่านสั่งมาว่าให้โยมกรุงเทพฯทำตะกรุด ผู้เขียนจึงเป็นธุระให้ในส่วนนี้ด้วยความเต็มใจและดีใจ

   ตะกรุดมหาละลวยหลวงปู่เรืองเป็นตะกรุดจารมือทุกดอก ดอกใหญ่ยาว ๓ นิ้วฟุต ดอกเล็กยาว ๒ นิ้วฟุต มีประสบการณ์มาก ถึงขนาดว่ามีคนสืบเสาะที่อยู่มาขอจากครอบครัวศรีสันติสุขและผู้เขียน ซึ่งต่างก็ได้แบ่งตะกรุดมาไม่ถึงสิบดอก

ตะกรุดมหาละลวยหลวงปู่เรือง

   สำหรับผู้เขียนเอง หลวงปู่เรืองได้จารตระกรุดมหาละลวยให้ผู้เขียนเป็นที่ระลึก ๑ ดอก เป็นตะกรุดยาวกว่า ๔ นิ้วฟุต ท่านว่าให้เป็นรางวัล


ตะกรุดมหาละลวยดอกนี้หลวงปู่เรืองจารแล้วมอบให้เป็นที่ระลึก

   พระผงหลวงปู่เรืองที่ครอบครัวศรีสันติสุขสร้างถวายโดยหลวงปู่เรืองนั้น ยังมีพระพิมพ์พิเศษเป็นพิมพ์พระนางตรา พระพิมพ์นี้กดพิมพ์ด้วยมือแค่เก้าหรือสิบองค์ แม่พิมพ์แกะลงในหินก้อนใหญ่ พิมพ์พระเหมือนของโบราณแทบแยกไม่ออก ดูพระพิมพ์นี้แล้วคลาสสิกมาก


พระนางตราหลวงปู่เรือง

พระนางตราหลวงปู่เรือง

   ต่อมาหลวงปู่เรืองท่านสั่งกำชับมาว่าให้ทำพระไพรีพินาศมาให้ท่าน ท่านว่าให้ทำมาเร็วๆเดี๋ยวจะไม่ทัน ตอนนั้นไม่มีใครเข้าใจว่าท่านหมายถึงอะไร คุณป้อมและผู้เขียนจึงไปจ้างช่างไก่ปั้นพิมพ์พระไพรีพินาศอีก คราวนี้มีแม่พิมพ์พระไพรีพินาศแบบสี่เหลี่ยมขนาดพระสมเด็จ และให้ช่างไก่ปั้นพิมพ์พระไพรีพินาศพิมพ์ใหญ่พิเศษประมาณเท่าฝ่ามือ

   ครั้งนี้เกรงว่าช่างจะทำพระให้ไม่ทัน จึงได้นำแม่พิมพ์พระไพรีพินาศไปกดพิมพ์ที่อาศรมฯหลวงปู่เรือง หลวงพี่อัญญาเป็นผู้กดพิมพ์พระ พระไพรีพินาศองค์ใหญ่นั้นหลวงปู่เรืองท่านเอาไว้ติดตัวท่าน ท่านว่า “กูต้องใช้เศษกรรมให้หมดไป” ซึ่งไม่มีใครเข้าใจความหมาย หลังจากนั้นหลวงปู่เรืองก็มีเหตุให้ไปอยู่ที่จ.ลพบุรี ความสงสัยของศิษย์จึงได้กระจ่าง
พระไพรีพินาศ พระรุ่นสุดท้ายที่อาศรมภูผาโพธิสัตว์



   ก่อนที่หลวงปู่จะต้องไปอยู่ จ.ลพบุรีนั้น หลวงปู่เรืองได้กำชับให้รีบๆทำพระให้เสร็จ มีพระไพรีพินาศซึ่งรีบส่งแม่พิมพ์ไปที่อาศรมฯ เพราะขืนรอให้ช่างทำจะไม่ทันแน่ ส่วนพระโลหะมีพระกริ่ง เหรียญหล่อนารายณ์นาคบาศ และรูปหล่อหลวงปู่เรืองยืนถือไม้เท้าที่หัวไม้เท้าทำเป็นเสือ รูปหล่อมีขนาดสูงกว่าฟุตครึ่งเล็กน้อย และมีหล่อแยกเป็นไม้เท้าแบบทำเป็นไม้ครู

   พระหล่อชุดนี้หลวงปู่เรืองสั่งมาว่า หล่อตอนไหนท่านก็จะเสกให้ในตอนนั้น คือหล่อพระที่กรุงเทพฯแต่ท่านอธิษฐานจิตปลุกเสกอยู่ที่อาศรม เรื่องนี้หลวงพี่อัญญาได้จับเวลาตอนที่หลวงปู่เรืองเริ่มอธิษฐานจิตจนกระทั่งถึงเวลาที่ท่านออกจากสมาธิ ปรากฏว่าหลวงปู่เรืองเริ่มอธิษฐานจิตตอนเริ่มเททองหล่อพระ และพอหล่อพระองค์สุดท้ายเสร็จ หลวงปู่เรืองก็หยุดปลุกเสกพอดี เรื่องนี้หลวงพี่อัญญากับทางผู้สร้างไม่ได้เตี๊ยมกันไว้เลย

   ตอนที่เริ่มเททองนั้นหลวงพี่อัญญาโทรศัพท์มาถามว่าเวลานี้เริ่มพิธีใช่มั๊ย คือหลวงพี่อัญญาสังเกตจากการที่หลวงปู่เรืองเข้าที่นั่งสมาธิ เวลาก็ตรงกัน พอเททองไปจนเสร็จหลวงพี่อัญญาก็โทรศัพท์มาใหม่ถามว่า เวลานี้เททองเสร็จใช่มั๊ย ปรากฏว่าก็ตรงกันอีก ทั้งหมดนี้ไม่มีการนัดแนะเรื่องเวลากันไว้ก่อน เพราะต่างก็ไม่ทราบว่าช่างจะพร้อมเมื่อไร และการหล่อพระทั้งหมดต้องใช้เวลานานเท่าไร

   แต่แล้วพระชุดที่หล่อโลหะก็ไม่ทันให้หลวงปู่เรืองปลุกเสกที่อาศรมพรตภูผาโพธิสัตว์ แต่หลวงปู่เรืองท่านเสกให้ตั้งแต่ตอนที่หล่อพระแล้ว เรื่องนี้ทางผู้สร้างถวายไม่เคยเอามาอ้างเลย ได้เก็บพระเอาไว้โดยไม่ได้แจกออกไปว่าเป็นของหลวงปู่เรือง และพิจารณาแล้วเห็นว่าจะไม่เอาไปให้หลวงปู่เสกที่จ.ลพบุรี ผู้เขียนก็มีความเห็นเช่นนี้ ส่วนที่ว่าทำไมจึงมีความเห็นแบบนี้ ผู้เขียนไม่ขอกล่าวถึง

   หลังจากที่หลวงปู่เรืองไปอยู่ที่จ.ลพบุรีได้สักพัก หลวงพี่อัญญาก็แบกกลดธุดงค์ปลีกวิเวกไปเรื่อย เพิ่งจะกลับมาบุกเบิกสร้างสำนักใหม่ที่จ.อุบลราชธานี

   หลังจากที่หลวงปู่เรืองต้องไปอยู่ที่จ.ลพบุรี ก็มีวัตถุมงคลหลวงปู่เรืองสร้างออกกันที่จ.ลพบุรีอีกมากรุ่น ซึ่งก็มีคนบูชาเพราะเลื่อมใสหลวงปู่เรือง การไปกราบนมัสการหลวงปู่เรืองก็ไม่ต้องขึ้นเขากันแล้ว เพราะมีการสร้างกุฏิให้หลวงปู่เรืองอยู่ตรงเชิงเขา นับว่าสะดวกสบายกว่าสมัยก่อนมาก

   ผู้เขียนไม่มีความรู้ในเรื่องวัตถุมงคลช่วงที่หลวงปู่เรืองถูกเชิญมาจ.ลพบุรี จึงไม่ทราบว่าจะเล่าถึงได้อย่างไร และช่วงนั้นเป็นช่วงที่ต้องวุ่นกับการทำมาหารับประทาน จึงไม่ได้ไปหาหลวงปู่เรือง แต่ก็ฝากคนไปทำบุญ

   หลวงปู่เรืองพำนักอยู่ที่กุฏิเชิงเขาสามยอดจนมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๖ รวมสิริอายุ ๑๐๑ ปี ๗๙ พรรษา




ประวัติหลวงปู่เรือง (ย่อความจากหนังสือประวัติท่าน)

หลวงปู่เรือง อาภสฺสโร มีชื่อเดิมว่า บุญเรือง นามสกุล สุขสันต์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๔๕๗ (ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๒ ปีขาล) เวลา ๘.๐๐ น. สถานที่เกิด ต.บ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ต่อมาได้ย้ายมาอยู่บ้านสระข่อย ต.โคกปีบ อ.ศรีมหาโพธิ์ (ได้แยกเป็น อ.โคกปีบ แล้วต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ อ.ศรีมโหสถ) จ.ปราจีนบุรี โยมบิดา ชื่อ นายคำพันธ์ สุขสันต์ โยมมารดา ชื่อนางศรี สุขสันต์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๘ คน ชาย ๕ หญิง ๓ โดยหลวงปู่เรืองเป็นคนที่ ๒

หลวงปู่เรืองในวัยเด็กได้เข้ารับการศึกษาชั้นประถม ที่โรงเรียนขุนโคกปีบปรีชา โดยมีคุณครูหลั่น ปราณี ผู้ทั้งเป็นครูสอนและครูใหญ่ (ต่อมาลาออกมาเป็นกำนัน ต.โคกปีบ) หลวงปู่เรืองเรียนจบจนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔  จึงกลับมาช่วยโยมบิดามารดาทำการเกษตรจนอายุครบอุปสมบท

   หลวงปู่เรืองอุปสมบทเมื่อวันที่ ๖ ก.ค. ๒๔๗๗ (ตรงกับวันศุกร์ วันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ) เวลา ๑๔.๐๘ น. ณ วัดสระข่อย ต.โคกปีบ อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี โดยมี พระสมุห์จำปา (ต่อมาเป็น พระครูวิมลโพธิ์เขต) วัดสระข่อย เจ้าคณะหมวด (เจ้าคณะตำบลโคกปีบ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพัด ธัมมะธีโร วัดโคกมอญ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโคกไทย) ต.โคกปีบ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ฉัตร คังคะปัญโญ วัดต้นโพธิ์ ต.โคกปีบ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีพระครูพิบูล วัดท่าประชุม อ.ศรีมหาโพธิ์ เป็นเจ้าคณะแขวง (เจ้าคณะอำเภอศรีมหาโพธิ์) ได้รับฉายาว่า “อาภสฺสโร” (อาภัสสะโร)

   ท่านได้จำพรรษาและศึกษาพระธรรมพระวินัยอยู่กับพระอุปัชฌาย์ที่วัดสระข่อย (อยู่ใกล้สระมรกตประมาณ ๒ ก.ม.) เป็นเวลา ๑๐ พรรษา โดยได้อยู่รับใช้ปฏิบัติพระอุปัชฌาย์พร้อมทั้งศึกษาวิชาต่างๆจากพระอุปัชฌาย์ จนเป็นที่รักและไว้วางใจยิ่งจากพระอุปัชฌาย์

ด้านการศึกษาธรรมะ หลวงปู่ได้เรียนนักธรรมชั้นตรีและสอบได้นักธรรมชั้นตรีในพรรษาแรกนี้เลย (พ.ศ. ๒๔๗๗) จากสำนักเรียนที่วัดของท่าน พรรษาที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๗๘) สอบได้นักธรรมโท พรรษาที่ ๓ สอบได้นักธรรมเอก

   เมื่อท่านเรียนจบนักธรรมแล้ว พระอาจารย์ฉัตร วัดต้นโพธิ์ อันเป็นพระคู่สวดของท่าน ได้มาขอท่านจากพระอุปัชฌาย์ให้ไปช่วยสอนธรรมะที่วัดต้นโพธิ์ ท่านก็ไปช่วยสอนอยู่ระยะหนึ่ง พร้อมกันนี้ท่านได้ศึกษาวิชาบาลีมูลกัจจายน์ และวิชาโหราศาสตร์สมุนไพรใบยาพร้อมด้วยวิชาคาถาอาคมต่างๆไปด้วย จนพรรษาพ้น ๑๐ พรรษาแล้ว ท่านเห็นว่าได้ศึกษาวิชาการพอที่จะปกครองตนเองได้แล้ว จึงกราบลาพระอุปัชฌาย์เพื่อออกธุดงค์แสวงวิเวกประพฤติปฏิบัติธรรมไปในที่ต่างๆ โดยก่อนจากไป หลวงปู่ได้ขอผ้าจีวรจากพระอุปัชฌาย์ไปเพียง ๑ ชุด หลวงปู่เรืองกราบลาพระอุปัชฌาย์อันเป็นที่เคารพยิ่ง พร้อมทั้งกล่าวว่า “ผมไปแล้ว ผมจะไม่กลับมาอีก จะแสวงหาวิมุตติธรรมไปเรื่อย ๆ”

   หลวงปู่ตัดสินใจเด็ดขาด สะพายย่ามแบกกลดเดินทางออกจากวัดไปเรื่อย ๆ ค่ำไหนนอนนั่น เช้าก็ออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ หนทางสมัยก่อนยังไม่เจริญเหมือนสมัยนี้ ต้องใช้เกวียนเป็นส่วนมาก เดินทางธุดงค์ไปตามที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคอีสาน หลวงปู่เดินทางธุดงค์ไปจนทั่ว

    มีอยู่ครั้งหนึ่งหลวงปู่เดินทางธุดงค์มาที่กรุงเทพฯ แล้วแวะจำพรรษาที่วัดท่าหลวง จ.นนทบุรี (ปัจจุบันไม่ทราบว่าเปลี่ยนชื่อเป็นวัดอะไร) พอดีช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารญี่ปุ่นเข้ามาอยู่ในเมืองไทยมาก ทำให้ฝ่ายพันธมิตร ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา ได้มาทิ้งระเบิดกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล วัดที่ท่านอยู่นั้นใกล้ที่ตั้งกองกำลังญี่ปุ่น จึงโดนระเบิดตกใกล้วัดเป็นประจำ ชาวบ้านในเขตนั้นย้ายอพยพไปอยู่ยังต่างจังหวัดกันเกือบหมด มีญาติโยมมาถามหลวงปู่ด้วยความเป็นห่วงว่า หลวงปู่ไม่ย้ายไปต่างจังหวัดหรือ ? ไม่กลัวโดนระเบิดหล่นใส่หรือไง ? หลวงปู่บอก คนเราเมื่อถึงที่ตาย อยู่ตรงไหนก็ตาย ไม่มีใครหนีพ้นหรอก

   ตอนเครื่องบินมาทิ้งระเบิด หลายคนวิ่งเข้าไปในวัดหลบในอุโบสถบ้าง แต่หลวงปู่เรืองกลับนั่งภาวนาอยู่บนศาลาเฉยๆไม่ไปหลบที่ไหน ระเบิดกลับตกแค่รอบๆวัด

   ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลวงปู่เรืองได้เดินธุดงค์ไปทางภาคอีสาน แล้ววกกลับมาทาง จ.ลพบุรี ได้พำนักอยู่ที่ถ้ำพิบูลย์ในปี พ.ศ.๒๔๘๙ (พรรษาที่ ๑๓) (ถ้ำพิบูลย์อยู่ใกล้วัดพระบาทน้ำพุ) หลวงปู่เรืองได้จำพรรษาที่ถ้ำพิบูลย์ ๕ พรรษา ต่อมาทางทหารได้มานิมนต์ให้ท่านไปอยู่วัดที่สร้างใหม่ เป็นที่เจริญ และใหญ่โตกว่าที่เดิม อีกทั้งไม่กันดาร เพราะที่ท่านอยู่นี้เป็นเขตของทหาร และทหารซ้อมยิงอาวุธอยู่บ่อย ๆ กลัวว่าจะเป็นอันตรายได้ อีกอย่างในหน้าแล้งกันดารน้ำมาก จึงขอให้ไปอยู่ที่วัดที่สร้างใหม่ แต่หลวงปู่เรืองกลับเก็บกลดสะพายย่าม ธุดงค์เข้าป่าลึก

   ท่านเดินธุดงค์อยู่ในป่า เดินตามหลังเขาไปเรื่อย ๆ ไม่ยอมลงจากเขา จนมาพบ ถ้ำพระอรหันต์ที่เขาสามยอด (เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓) หลวงปู่จึงตัดสินในอธิฐานจิตว่า จะไม่ไปไหนอีก จะอยู่จำพรรษาที่นี่ สมัยนั้นแถวเขาสามยอดยังมีเสือ มีช้าง และสัตว์ป่าชุกชุมอยู่ รวมถึงไข้ป่ารุนแรงด้วย

   หลวงปู่เรืองอยู่บนเขาเพียงรูปเดียว เก็บยอดผักในป่าฉันเป็นอาหาร น้ำดื่มก็อาศัยน้ำฝนดื่มรวมทั้งอาบด้วย ต่อมาอีกหลายปีมีคนมาเจอท่านแล้วบอกต่อๆกันไป จึงมีคนมากราบนมัสการท่านบ่อยขึ้น พร้อมทั้งมีผู้ศรัทธาและทหารได้มาสร้างกุฏิให้พออยู่ได้ พร้อมทั้งถังใส่น้ำ แต่น้ำยังขาดแคลนต้องรอน้ำฝน น้ำจึงมีแค่พอใช้ได้ระยะหนึ่งเท่านั้น

   หลวงปู่เรืองอยู่เงียบๆรูปเดียวบนถ้ำพระอรหันต์เขาสามยอด ท่านอยู่บนยอดเขายอดที่สอง ต่อมาคนรู้จักหลวงปู่เรืองจนท่านมีชื่อเสียงโด่งดัง มีประชาชนบุกบั่นขึ้นเขาไปกราบนมัสการ พอท่านย้ายไปอยู่ที่ไหนๆก็มีคนตามไปกราบเสมอ สุดท้ายแล้วท่านก็มรณภาพด้วยอาการสงบในวัย ๑๐๑ ปี พรรษา ๗๙

   หลวงปู่เรืองท่านอยู่ของท่านรูปเดียวบนยอดเขามานาน แต่ในบั้นปลายชีวิตของท่านนั้น ท่านยอมพบปะผู้คน ท่านพูดเป็นนัยๆว่า “พอกูไปแล้วถึงชาติหน้าพวกมึงก็ไม่ได้เจอกูอีก กูเลยต้องให้พวกมึงรีบๆมาพบกู”.....

   ลองคิดเอาเองว่าหลวงปู่เรืองท่านหมายความว่าอะไร

เรื่องและภาพอนุญาตให้นำไปใช้ได้
เรื่องจากความทรงจำที่ได้พบหลวงปู่เรือง และจากคุณป้อม ครอบครัวศรีสันติสุข
ประวัติหลวงปู่เรืองจากหนังสือประวัติหลวงปู่เรืองเล่มแรกที่แจกพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่