วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558

หลวงพ่อเส่ง วัดกัลยาณมิตร




พระครูโศภณกัลยาณวัตร(เส่ง โสภโณ)
วัดกัลยาณมิตร วรวิหาร

หลวงปู่เส่ง เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 10 มิ.ย. 2434 ที่บ้านย่านปากคลองตลาด เขตพระนคร กรุงเทพฯ เป็นบุตรของนายเพี้ยน และนางแดง นามสกุล เปี๊ยนสู่ลาภ มีพี่น้องร่วมท้องเดียว กัน 3 คน โดยหลวงปู่เส่งท่านเป็นบุตรคนโต 

   ในสมัยที่หลวงปู่เส่งยังเอายุน้อยนั้น ที่ฝั่งตรงข้ามกันกับปากคลองตลาด ซึ่งก็คือวัดกัลยาณมิตรซึ่งหรือที่คนจีนเรียกว่าวัดซำปอกง มีพระปรมาจารย์รูปหนึ่งซึ่งมีความเชี่ยวชาญทาง ด้านพระวิปัสสนาธุระและขึ้นชื่อว่าเรืองวิทยาคม อีกทั้งยังมีบารมีทางธรรมสูง นั่นก็คือคือ พระครูพินิตวิหารการ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระสุนทรสมาจาร (พรหม) หรือที่เรียกกันว่าท่านเจ้าคุณพรหมวัดกัลยานั่นเอง

   ท่านเจ้าคุณพรหมวัดกัลยาฯมีชื่อเสียงทางวิทยาคมมาก เป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัต(แดง)วัดสุทัศนฯร่วมกันมากับพระปรมาจารย์ในยุคนั้นหลายท่าน(จากคำบอกเล่าของท่านอาจารย์นิรันดร์ แดงวิจิตร อดีตพระเลขาสมเด็จพระสังฆราชแพ)เช่น ท่านเจ้าคุณทักษิณคณิสศรวัดบางยี่เรือใต้ ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม(นาค)วัดอรุณ 




  ท่านเจ้าคุณพรหมวัดกัลยาฯมีประชาชนมากราบฝากตัวเป็นศิษย์กันมาก มีทั้งระดับชาวบ้านธรรมดาและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ อาทิ พระยาศิริชัยบุรินทร์, พระยาสิงหเสนีย์, พระยาสุรเทพศักดิ์, พระยามนตรีสุริยวงศ์ และขุนหลวงพระยาไกรสีห์ (เปล่ง เวภาระ) เป็นต้น

   บิดามารดาของหลวงปู่เส่งซึ่งมีบ้านอยู่ฝั่งตรงข้ามวัดกัลยาฯ ก็เป็นศิษย์ของท่านเจ้าคุณพรหมเช่นกัน ทั้งยังมีการไปมาหาสู่กราบนมัสการท่านเจ้าคุณพรหมอยู่เสมอ เหตุนี้เองจึงทำให้หลวงปู่เส่งครั้งยังเยาว์พลอยได้ไปกราบท่านเจ้าคุณพรหมบ่อยๆจนคุ้นเคย 

   หลวงปู่เส่งมีใจฝักใฝ่ในทางธรรมตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อได้มาวัดกัลยาฯซึ่งอยู่ตรงข้ามบ้านก็ถูกอัธยาศัย หลวงปู่เส่งมักจะแอบออกจากบ้าน แล้วลงเรือข้ามฟากไปนั่งอยู่ภายในวัดกัลยาฯ บางทีก็ไปนั่งสมาธิอยู่ที่ในป่าช้าเพียงคนเดียว ป่าช้านั้นติดอยู่กับด้านหลังของคณะ 4 อันเป็นที่พำนักของท่านเจ้าคุณพระสุนทรสมาจาร (พรหม)  บิดามารดาของหลวงปู่เส่งเห็นว่าท่านมีใจใฝ่ไปในทางธรรม จึงนำหลวงปู่เส่งไปถวายตัวเป็นศิษย์ของท่านเจ้าคุณพรหม

   เมื่อหลวงปู่เส่งมีอายุ 14 ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ต่อมาได้อุปสมบทเมื่ออายุ 21 ปี ตรงกับปีพ.ศ. 2455 ณ วัดกัลยาณมิตร โดยมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์ ธัมมสิริ) วัดอรุณราช วราราม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมเทศา จารย์ (มุ้ย ธัมมปาโล) วัดราชโอรสาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระสุนทรสมาจาร (พรหม) วัดกัลยาณมิตร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า "โสภโณ"

   หลวงปู่เส่งได้ศึกษาทั้งกรรมฐานและวิทยาคมจากท่านเจ้าคุณพรหมจนมีความเชี่ยวชาญ ได้รับใช้ใกล้ชิดท่านเจ้าคุณพรหมมาโดยตลอด จนได้รับตำแหน่งเป็นพระฐานานุกรมในท่านเจ้าคุณพระสุนทรสมาจาร (พรหม) เป็นพระปลัด ปีพ.ศ.2493 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นโท (จปร.) ที่ "พระครูโศภณกัลยาณวัตร" 




   หลวงปู่เส่งได้มีส่วนช่วยท่านเจ้าคุณพรหม ในด้านการพัฒนาต่างๆ  และที่สำคัญยิ่งก็คือ การที่จัดหล่อระฆังใบใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2474 ซึ่งต่อมาปรากฏตามหลักฐานประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากรได้จารึกไว้ว่า "เป็นระฆังใบใหญ่ที่สุดในประเทศไทย"

   ภายหลังจากที่ท่านเจ้าคุณพรหมมรณภาพปี พ.ศ.2476 "หลวงปู่เส่ง" ได้รับภาระการสร้างต่อจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2478 ทำพิธีนำระฆังไปประดิษฐานและฉลองเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2478 โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เสด็จเป็นประธาน


   หลวงปู่เส่งเป็นพระผู้มีเมตตามาก ไม่เคยดุด่าว่ากล่าวผู้ใดเลย ทั้งยังไม่ยอมออกปากให้ผู้อื่นช่วยกระทำการใดๆให้ แม้พระเณรเล็กๆหลวงปู่เส่งก็เกรงใจไม่ยอมใช้ให้ทำโน่นทำนี่ให้ เรียกกันอย่างชาวบ้านว่าท่านเป็นคนขี้เกรงใจ 

   ในสมัยที่หลวงปู่เส่งยังอยู่นั้น ผู้ที่มีทุกข์ร้อนมาหาท่านขอให้ท่านช่วย ท่านก็ไม่เคยปฏิเสธใครเลย ผู้ที่มาหาท่านนั้นบ้างก็เดือดร้อนมาขอเงินใช้ หลวงปู่เส่งก็ให้เงิน ถ้าขอเป็นสิ่งของท่านก็ให้เป็นสิ่งของ ขอพรก็ให้พร ขอวัตถุมงคลก็ให้วัตถุมงคล ท่านไม่เคยปฏิเสธใครเลย




   หลวงปู่เส่งขึ้นชื่อในเรื่องน้ำมนต์มาก น้ำมนต์ของหลวงปู่เส่งเรียกว่าน้ำมนต์บัวบานลอยเคราะห์ บางทีก็เรียกน้ำมนต์บัวลอย จะมีประชาชนพากันมาขอให้หลวงปู่เส่งทำน้ำมนต์ให้ทุกๆวัน กิตติศัพท์เรื่องน้ำมนต์ของหลวงปู่เส่งว่ามีความศักดิ์สิทธิ์แผ่ออกไปในวงกว้างมากขึ้นทุกที จึงมีมหาชนเป็นจำนวนมากแห่กันมาตั้งแต่เช้าจนกระทั่งเย็น แม้แต่ในยามวิกาลก็ยังมีคนที่เดือดเนื้อร้อนใจมาขอให้หลวงปู่เส่งทำน้ำมนต์บัวบานลอยเคราะห์ให้ หลวงปู่เส่งก็ไม่เคยปฏิเสธ 

   การทำน้ำมนต์บัวบานลอยเคราะห์หรือน้ำมนต์บัวลอยของหลวงปู่เส่ง ท่านจะให้นำดอกบัวขาว 3 ดอกเทียนขาว 1 เล่ม มาให้ท่านทำพิธีปลุกเสกน้ำมนต์ โดยท่านจะรดน้ำมนต์ให้ เสร็จแล้วท่านก็จะให้เอาดอกบัวคืนให้แก่ผู้ที่มาเข้าพิธี ให้นำดอกบัวขาวที่หักก้านออกแล้วไปลอยลงในแม่น้ำหน้าวัด เป็นเคล็ดว่าเพื่อลอยเคราะห์หรือปล่อยเคราะห์ และมักปรากฏเป็นอัศจรรย์ว่า เมื่อหลวงปู่เส่งทำพิธีเสกน้ำมนต์นั้น ดอกบัวจะบานขึ้นมาเอง

   สำหรับวิทยาคมด้านอื่นๆนั้น จะทราบก็แต่เฉพาะผู้ที่มาขอให้ท่านสงเคราะห์ให้เป็นรายๆไปเท่านั้น เช่นขอวัตถุมงคลคงกระพันแคล้วคลาด ท่านก็จะทำผ้ายันต์ทำตะกรุดตามที่ขอ ท่านจะลงผ้ายันต์แจกไว้ศิษย์ โดยเขียนลงบนผืนผ้าสี่เหลี่ยมจัตุรัสจารอักขระขอมและยันต์ต่างๆ ด้วยมือของท่านเอง


เหรียญรุ่นแรก



   วัตถุมงคลที่หลวงปู่เส่งสร้างแจกแก่บรรดาศิษย์ทั่วไปในวาระต่างๆมีมากมายหลายพิมพ์ เช่น พระสมเด็จเนื้อผง พิมพ์ทรงฐาน 5 ชั้น, พระหลวงพ่อโตปางมารวิชัย เนื้อดินเผา พระนาคปรกเมล็ดข้าวเม่าหรือใบมะขามเนื้อทองแดงทองเหลือง, พระเกศทองคำปางสมาธิกลีบบัว เนื้อเมฆพัด พระพิมพ์ขุนแผนปางมารวิชัย เนื้อผง และผ้ายันต์รูปสี่เหลี่ยม กว้างและยาวด้านละ 9 นิ้ว เหรียญรูปเหมือน มีรูปแบบและขนาดแตกต่างกันไป เช่น เหรียญรูปไข่ เนื้อทองแดง, เนื้อทองแดงชุบนิกเกิล, เหรียญรูปใบเสมาเนื้อทองแดง, เหรียญรูปอาร์มเนื้อทองแดง เงิน และทองคำ (ฉลองอายุ 80 ปี) เหรียญรูปไข่ (เหรียญ 2 หน้า) เนื้อทองแดงรมดำ ลักษณะคล้ายเหรียญเจ้าคุณพรหม

   วัตถุมงคลของหลวงปู่เส่งมีคุณวิเศษทางเมตตามหานิยม โชคลาภค้าขาย แคล้วคลาดจากสารพัดภัย ในปัจจุบันนี้เริ่มหายากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังมีของปลอมเป็นเหรียญรุ่นแรกด้วย


รุ่นพ.ศ.2518

   ที่ไม่ค่อยมีคนทราบกันก็คือ หลวงปู่เส่งนั้นตอนท่านยังไม่ชราภาพ ท่านยังสักยันต์ให้ลูกศิษย์ด้วย ปรากฏผลทางคงกระพันดีนัก เรื่องนี้ศิษย์รุ่นเก่ามากๆของหลวงปู่เส่งเป็นผู้ยืนยัน เป็นศิษย์แถวซอยช่างนาคศิษย์หลังวัดอนงคาราม ซึ่งแถวๆนี้มีศิษย์รุ่นใหญ่และเก่าแก่ของหลวงปู่เส่งอยู่มาก ต่างยืนยันเรื่องการสักของหลวงปู่เส่งวัดกัลยาฯด้วยกันทั้งนั้น

   หลวงปู่เส่งมรณภาพเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2526 รวมสิริอายุได้ 92 ปี 7 เดือน 4 วัน นับพรรษาได้ 72 พรรษา  วันที่หลวงปู่เส่งมรณภาพนั้น พอหลวงปู่เส่งมรณภาพก็เกิดฝนตกทางฝั่งธนบุรีทันที และมีปรากฏการณ์ที่แสดงถึงความเคารพนับถือที่ประชาชนมีต่อหลวงปู่เส่งคือ ศิษย์ที่ทราบข่าวก่อนต่างก็ขับรถออกไปประกาศว่าหลวงปู่เส่งมรณภาพแล้ว แอดมินหรือผู้เขียนนี้ยังจำวันนั้นได้แม่นว่า กำลังยืนอยู่ที่หน้าบ้านแล้วอยู่ๆก็มีฝนตกพรำๆ สักพักใหญ่ก็มีรถกระบะขับผ่านมาพร้อมทั้งประกาศโทรโข่งว่า หลวงปู่เส่งท่านมรณภาพ




   เหตุที่หลวงปู่เส่งมรณภาพนั้น ก็มาจากการที่หลวงปู่เส่งเกรงใจพระเณรและศิษย์ที่ดูแลท่าน เรื่องนี้ศิษย์ของหลวงปู่เส่งเป็นผู้ให้ข้อมูล คือหลวงปู่เส่งมีอายุถึง 92 ปี ซึ่งชราภาพมาก ท่านลุกขึ้นมากลางดึกเพื่อจะไปเข้าห้องน้ำ ซึ่งปกติจะต้องมีคนช่วยพยุงท่านไปทำธุระ แต่หลวงปู่เส่งมีเมตตามาก ท่านเห็นศิษย์ยังหลับสบายก็เกรงใจไม่อยากปลุกให้ตื่น ไม่กล้าเปิดไฟส่องสว่างเพราะจะรบกวนการนอนของผู้อื่น

   หลวงปู่เส่งซึ่งชราภาพมากแล้วไม่อยากรบกวนผู้อื่น ท่านจึงค่อยๆพยายามเดินด้วยตัวท่านเองฝ่าความมืดไปห้องน้ำ แล้วท่านก็สะดุดล้มตกบันใดศีรษะฟาดพื้นจนศีรษะแตกเลือดออก หลวงปู่เส่งยังเกรงใจไม่ยอมปลุกศิษย์ให้มาทำการปฐมพยาบาลท่าน ท่านพยายามเดินกลับห้องนอนและเอาผ้าขนหนูปิดศีรษะที่มีเลือดออก หลวงปู่เส่งนอนรอให้ศิษย์ตื่นเพื่อมาช่วยท่าน

   กว่าถึงเวลาปกติประจำที่ศิษย์หลวงปู่จะตื่นขึ้นมา หลวงปู่เส่งก็เสียเลือดไปมากแล้ว ในที่สุดหลวงปู่เส่งก็มรณภาพ 

  ทุกวันนี้ยังมีประชาชนไปกราบนมัสการรูปหล่อเท่าองค์จริงของหลวงปู่เส่งที่วัดกัลยาฯ ผู้ที่เดือดเนื้อร้อนใจต่างไปกราบขอบารมีหลวงปู่เส่ง และปรากฏว่ารอดพ้นเคราะห์ไปได้จริงๆ