วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

หลวงพ่อเอีย วัดบ้านด่าน



หลวงพ่อเอีย กิตฺติโก (พระครูสังวรกิตติคุณ)
วัดบ้านด่าน อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี


หลวงพ่อเอียนี้ผู้เขียนรู้จักมาตั้งแต่ผู้เขียนยังเป็นเด็กอายุยังไม่ถึงสิบขวบ ที่รู้จักท่านก็เพราะท่านมีความคุ้นเคยกับคุณตาซึ่งเป็นคนจังหวัดปราจีนบุรีเหมือนกัน และมารดาของผู้เขียนก็เป็นศิษย์รุ่นเก่าของหลวงพ่อเอีย ผู้เขียนจึงพลอยได้ไปกราบนมัสการหลวงพ่อเอียบ่อยๆ ได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อเอียทุกครั้งที่ไปหาท่าน

   หลวงพ่อเอียเป็นคนบ้านด่านโดยกำเนิด ท่านถือกำเนิดเมื่อวันอังคารที่ 9 พฤษภาคม 2448 บิดาชื่อ เธียว
มารดาชื่อ มา นามสกุล ขยันคิด ทั้งสองถึงแก่กรรมตั้งแต่หลวงพ่อเอียยังเป็นเด็ก

   เมื่อหลวงพ่อเอียมีอายุ 17 ปีจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2465 หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรแล้วก็ศึกษาพระปริยัติธรรมมาตามลำดับ ต่อมาท่านได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงปู่ศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท ว่าหลวงปู่ศุขเป็นผู้ทรงคุณวิเศษทางกรรมฐานและวิทยาคม ทั้งมีภูมิธรรมสูง หลวงพ่อเอียจึงได้เดินธุดงค์ไปกราบนมัสการหลวงปู่ศุขถึงที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า ได้ถวายตัวเป็นศิษย์ปรนนิบัติรับใช้ ทั้งยังได้ศึกษาพระกรรมฐานและวิทยาคมจากหลวงปู่ศุข 



   ช่วงที่หลวงพ่อเอียอยู่กับหลวงปู่ศุขนั้น ได้ทันเห็นเสด็จเตี่ยหรือกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสด็จไปกราบนมัสการหลวงปู่ศุขอยู่เป็นประจำ

    เมื่อหลวงพ่อเอียอายุได้ 20 ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2468 ณ พัทธสีมาวัดสัมพันธ์ ต.สัมพันธ์  อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี โดยมีพระครูสังวรกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการอ้วน วัดชัยมงคล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการเคน เจ้าอาวาสวัดบ้านด่าน เป็นอนุสาวนาจารย์ หลวงพ่อเอียอุปสมบทได้รับฉายาว่า กิตติโก

    หลวงพ่อเอียได้เรียนวิทยาคมจากพระธุดงค์อีกรูปหนึ่ง พระธุดงค์รูปนี้มีชื่อว่า พระอาจารย์โกลั่นฟ้า นัยว่าเป็นศิษย์ของสำเร็จลุน โดยพระอาจารย์โกลั่นฟ้าได้ธุดงค์มาจากประเทศลาว มาปักกลดอยู่ภายในบริเวณวัดบ้านด่านนั่นเอง หลวงพ่อเอียได้นิมนต์ให้พระอาจารย์โกลั่นฟ้าจำพรรษาอยู่ที่วัด หลวงพ่อเอียได้ศึกษาวิชาจากพระอาจารย์โกลั่นฟ้านาน 6 เดือนกว่าๆ หลังจากนั้นพระอาจารย์โกลั่นฟ้าก็ออกเดินธุดงค์ต่อไป



   หลวงพ่อเอียเล่าว่าขณะที่หลวงพ่อกำลังครองจีวรเพื่อที่จะออกไปส่งพระอาจารย์โกลั่นฟ้านั้น ปรากฏว่าพระอาจารย์โกลั่นฟ้าหายได้ไปแล้ว หลวงพ่อเอียรีบเดินตามเท่าไรก็ไมทัน ท่านว่าพระอาจารย์โกลั่นฟ้าสำเร็จวิชาย่นระยะทางได้

   หลวงพ่อเอียได้สงเคราะห์สาธุชนโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง จนมีประชาชนเคารพเลื่อมใสท่านเป็นอันมาก ถึงกับเรียกขนานนามหลวงพ่อเอียว่า "เทพเจ้าเมืองหน่อไม้ไผ่ตง"

   พ.ศ.2482 หลวงพ่อเอียได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านด่าน ซึ่งยังเป็นยุคที่บ้านเมืองยังอยู่ในภัยสงคราม วัตถุมงคลของหลวงพ่อเอียมีประสบการณ์คุ้มครองทหารและประชาชนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว

   



   ประชาชนที่มาหาหลวงพ่อเอียนั้น มีทั้งที่มาขอรับวัตถุมงคลเครื่องรางของขลัง มาขอน้ำมนต์ไปดื่มและอาบเป็นศิริมงคล ขณะที่หลวงพ่อเอียมอบวัตถุมงคลให้ หลวงพ่อเอียจะสอนให้เป็นคนดีมีศีลธรรม ผู้เขียนนี้ยังจำเสียงสำเนียงของหลวงพ่อเอียเวลาที่ท่านพูดได้ ถ้าเป็นคนทางกรุงเทพฯไปกราบท่านก็จะพูดภาษาภาคกลาง ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปท่านก็จะพูดเป็นภาษาอิสาน ซึ่งเป็นภาษาอิสานแบบปราจีนบุรี เวลาที่ท่านสนทนากับมารดาของผู้เขียนจะคุยเป็นภาษาอิสาน ซึ่งผู้เขียนได้ยินชัดเจน แต่พอหลวงพ่อเอียท่านคุยกับผู้เขียนท่านก็จะพูดแบบคนกรุงเทพฯ

   ในช่วงพ.ศ. 2510ขึ้นมานั้น พระอาจารย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต มีชื่อเสียงขึ้นมาจนเป็นกระแสนิยมพระกรรมฐาน พระอาจารย์ฝ่ายวิทยาคมหรือพระเกจิอาจารย์นั้นมีผู้กล่าวถึงน้อยลงไปมาก แต่หลวงพ่อเอียเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ฝ่ากระแสพระสายกรรมฐานขึ้นมาได้ โดยมีชื่อเสียงเกียรติคุณร่วมสมัยกันกับพระอาจารย์รูปสำคัญๆของสายหลวงปู่มั่น แม้แต่การอธิษฐานจิตปลุกเสกวัตถุมงคลของพระสายกรรมฐานในจังหวัดปราจีนบุรี ก็ยังต้องนิมนต์หลวงพ่อเอียมาร่วมอธิษฐานจิตอยู่เสมอ 

    ชื่อเสียงเกียรติคุณของหลวงพ่อเอียจึงเลื่องลือระบือไกล มีประชาชนแห่ไปให้ท่านรักษาโรคภัยไข้เจ็บ แม้แต่คนบ้าเสียสติ สติฟั่นเฟือน คนที่ถูกคุณไสย คุณภูตผีปีศาจหรือถูกกระทำยยำเยียลมเพลมพัด ต่างก็มุ่งหน้ามาขอให้หลวงพ่อเอียรักษาให้ หลวงพ่อเอียไม่เคยเรียกร้องเงินทองเป็นค่ารักษาเลยแม้แต่รายเดียว บางรายมาไกลอาการหนักก็ต้องพักอยู่ที่วัดเป็นแรมเดือน อาหารการกินของผู้ป่วยหลวงพ่อเอียเมตตาเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด คิดเป็นเงินเดือนละหลายหมื่นบาท ซึ่งนับเป็นจำนวนที่สูงมากในสมัยนั้น





   ผู้เขียนเคยเห็นหลวงพ่อเอียทำน้ำมนต์ในถังเหล็ก หลวงพ่อเอียท่านเสกเดี๋ยวเดียวเห็นน้ำให้ถังหมุนวนได้เอง เห็นหลวงพ่อเอียประพรมน้ำมนต์ให้ผู้ป่วย แล้วผู้ป่วยอาเจียนออกมาเป็นเส้นผมเป็นกระจุก

   ครั้งหนึ่งผู้เขียนนั่งดูหลวงพ่อเอียรักษาผู้ป่วย อยู่ๆก็มีเสียงคนฮือฮากันขึ้นมา แล้วเฮโรกันเข้าไปมุงดูจนมองไม่เห็นหลวงพ่อเอียเลย ผู้เขียนไม่เห็นเหตุการณ์ในตอนแรก จึงถามคนดูก็ได้ความว่า พอหลวงพ่อเอียประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ปรากฏว่ามีก้อนเนื้อหล่นออกมาจากผู้ป่วย แล้วหลวงพ่อเอียใเอาน้ำมนต์รดก้อนเนื้อนั้น แล้วให้เอาไปทำอาหารกินได้ ยังทันเห็นคนหยิบก้อนเนื้อนั้นไปด้วย

   อีกครั้งหนึ่งมีคนพาผู้ป่วยเป็นผู้หญิงมาหาหลวงพ่อเอีย ผู้เขียนจำได้ว่าตอนนั้นกำลังยืนดูเหรียญรุ่นมังกรคู่ ซึ่งให้ทำบุญเพียงแค่สิบบาท เห็นหญิงผู้ป่วยนั้นอาละวาดดิ้นรนไม่ยอมขึ้นมาบนศาลาที่หลวงพ่อเอียท่านนั่งอยู่ เมื่อญาติๆคุมตัวขึ้นมาได้แล้วผู้หญิงคนนี้ก็นั่งซึม หลวงพ่อเอียเสกน้ำมนต์ประพรมให้เท่านั้น ผู้ป่วยร้องกรี๊ดโหยหวนแล้วได้สติเป็นปกติฟื้นขึ้นมากราบหลวงพ่อเอีย หลวงพ่อก็ให้เอาสายสิญจน์คล้องคอไว้

   วัตถุมงคลของหลวงพ่อเอียทุกรุ่นเป็นที่นิยมกันมาก นับวันจะหายากขึ้นเรื่อยๆ ประสบการณ์วัตถุมงคลของหลวงพ่อเอียมีทั้งหนังเหนียวอยู่ยงคงกระพันมหาอุดแคล้วคลาด เมตตามหานิยมมหาโชคมหาลาภ มีวัตถุมงคลเนื้อผงผสมว่านรุ่นหนึ่งเรียกันว่ารุ่นไล่ควาย ซึ่งความจริงน่าจะเรียกว่ารุ่นควายไล่มากกว่า เรื่องมีอยู่ว่า


รุ่นไล่ควายพิมพ์พระสมเด็จ

  วันหนึ่งลูกศิษย์ของท่านแวะมากราบท่าน ลูกศิษย์ท่านนี้ผู้เขียนเคยสนทนาด้วย แต่วันเวลาผ่านไปนานมากจึงจำชื่อเลือนๆไป ท่านผู้นี้เห็นพระเนื้อผงผสมว่านรุ่นนี้วางตากอยู่ โดยที่หลวงพ่อเอียยังปลุกเสกไม่เสร็จ แต่ด้วยความอยากได้พระจึงหยิบเอาไปก่อน

   ปรากฏว่าวันหนึ่งเดินผ่านควายตัวใหญ่แล้วเกิดเหตุการณ์หวาดเสียวขึ้น ควายตัวที่เห็นนั้นอยู่ๆก็เกิดอาละวาดวิ่งไล่ขวิดศิษย์หลวงพ่อเอียจนล้มลุกคลุกคลาน โดนเขาควายแหลมๆตักเข้าที่ลำตัวหลายครั้งจนเสื้อกางเกงขาดรุ่งริ่ง แต่ไม่ได้รับบาดเจ็บอะไรเลย พอวิ่งหนีควายก็วิ่งไล่ขวิดตามหลังมาตลอด จึงเรียกวัตถุมงคลรุ่นนี้ว่ารุ่นไล่ควาย

   พระองค์ที่เป็นต้นตอของชื่อรุ่นไล่ควายเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเอียพิมพ์สี่เหลี่ยม รุ่นไล่ควายนี้มีพิมพ์พระสมเด็จขนาดเล็กด้วย(ไม่เล็กนัก) หลวงพ่อเอียมอบให้คุณตาของผู้เขียน แล้วภายหลังคุณตามอบให้ผู้เขียนอีกทีหนึ่ง

   ของขลังของหลวงพ่อเอียแบบหนึ่งดูแล้วไม่มีราคาเพราะเป็นแค่ก้อนขี้ผึ้งแห้งๆ แต่ลูกศิษย์ต่างอยากได้กันมาก ของชิ้นนี้เรียกกันว่า นวด มีคุณวิเศษใช้ได้สารพัด เป็นเมตตามหานิยมมหาโชค คุ้มครองป้องกันภัยกันคุณไสยต่างๆ


นวด ของวิเศษของหลวงพ่อเอีย

   วิชาสำคัญของหลวงพ่อเอียอีกวิชาหนึ่งเป็นวิชาเสกปรอทห้าสี ท่านได้เรียนวิชานี้มาจากหลวงปู่ศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่า เป็นวิชาเสกปรอทให้แข็งเป็นก้อนด้วยอำนาจจิต โดยจะทำเป็นเม็ดปรอท 5 เม็ด เสกให้ปรอทแข็งและแต่ละก้อนเสกแล้วจะเกิดมีสีไม่เหมือนกัน ปรอทชุดนี้ท่านจะใส่เอาไว้ที่ก้นย่าม คุณวิเศษครอบจักรวาล ที่แปลกคือเวลาที่จะมีใครมาหาท่าน ปรอทชุดนี้จะขยับตัวกรุกๆกรักๆบอกให้ท่านรู้ตัว

   หลวงพ่อเอียมีพระพุทธรูปเป็นแก้วผลึกอยู่องค์หนึ่ง เป็นพระคู่บารมีของท่านโดยตรง มีขนาดหน้าตักประมาณไม่เกิน 3 - 4 นิ้ว เพราะวางไว้บนฝ่ามือได้ ปัจจุบันนี้ไม่ทราบว่าตกอยู่กับท่านใด

   ประชาชนขนานนามท่านว่าเป็น "เทพเจ้าแห่งเมืองหน่อไม้ไผ่ตง" หลวงพ่อเอียสงเคราะห์ประชาชนด้วยความเมตตาตลอดมา  จนกระทั่งถึงวันมรณภาพ วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2521 รวมสิริอายุ 73 ปี

   














วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย





พระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ (หลวงพ่อปาน อคฺคปญฺโญ) (พ.ศ. 2368 - 29 สิงหาคม พ.ศ. 2453) 
วัดมงคลโคธาวาส (วัดบางเหี้ย) อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

หลวงพ่อปานท่านเป็นพระปรมาจารย์ในตำนานระดับต้นๆของสยามประเทศ ชาวไทยต่างรู้จักหลวงพ่อปานวัดบางเหี้ยด้วยกันทั้งนั้น ท่านเป็นเจ้าของตำนานเขี้ยวเสือไร้เทียมทานที่ไม่มีผู้ใดเทียบได้ แม้ว่าท่านจะมรณภาพไปร้อยกว่าปีแล้ว แต่มหาชนยังศรัทธาทานอยู่อย่างเหนียวแน่น

หลวงพ่อปาน เกิดที่คลองนางโหง (คลองนางหงษ์) ตำบลบางเหี้ย(ตำบลคลองด่านในปัจจุบัน) อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2368 บิดาเชื้อชาติจีน ชื่อ "ปลื้ม" มารดาเชื้อชาติไทยชื่อ "นางตาล" อาชีพทำป่าจาก มีพี่น้องร่วมมารดา 5 คน คือ

     1.นายเทพย์
     2.นายทัต
     3.หลวงพ่อปาน
     4.นายจันทร์
     5.นางแจ่ม

   ในยุคนั้นคนไทยยังไม่มีนามสกุลใช้กัน จนกระทั่งถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นใช้ เพื่อให้เหมือนนานาอารยประเทศที่เจริญแล้ว เล่ากันว่าลูกหลานของหลวงพ่อปาน ได้ใช้ชื่อของบรรพบุรุษมาตั้งเป็นนามสกุลว่า "หนูเทพย์" ซึ่งการตั้งนามสกุลโดยใช้ชื่อบรรพบุรุษมาใช้เป็นนามสกุลนั้น แรกๆนิยมกันมาก เช่นเอาชื่อบิดาและมารดารวมกันเป็นนามสกุล

หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย

    หลวงพ่อปานในวัยเด็กก็แสดงถึงความโอบอ้อมอารีเที่ยงตรงและเป็นคนใจถึงเด็ดขาดพร้อมกันไปด้วย ท่านใช้ชีวิตตามแบบหนุ่มเมืองน้ำกร่อยโดยทั่วไป ที่ทำการเกษตรบ้างประมงบ้าง จนมีจุดพลิกผันครั้งสำคัญที่ทำให้ท่านตัดสินใจบวช 
   
   เล่ากันว่าวันหนึ่งท่านไปหาหญิงสาวที่รักใคร่ชอบพอกันอยู่ โดยท่านไปหาถึงที่บ้านของหญิงสาวท่านนั้น เล่ากันว่าท่านคิดจะมีครอบครัวเสียที ขณะที่ท่านจะขึ้นไปบนเรือนนั้น พอท่านล้างเท้าก้าวขึ้นบันได ปรากฏว่าบันไดหลุดออกจากกัน ท่านจึงพลัดตกบันไดลงมา ท่านจึงคิดท่านคงไม่เหมาะกับทางโลก หลักจากนั้นท่านตริตรองอยู่หลายวัน ในที่สุดก็ตัดสินใจออกบวช

อุปสมบท
หลวงพ่อปาน ได้มาบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดอรุณราชวราราม(วัดแจ้ง) จังหวัด ธนบุรี จวบจนเมื่ออายุครบ 20 ปี ท่านก็ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดอรุณราชวราราม(อารามหลวง) นั่นเอง โดยมี "ท่านเจ้าคุณศรีศากยมุนี" เป็นพระอุปัชฌาย์

หลวงพ่อปาน ศึกษาทั้งด้านวิปัสสนากรรมฐาน รวมไปถึงไสยศาสตร์ต่างๆ โดยได้รับการถ่ายทอดจากคณาจารย์หลายองค์จนเชี่ยวชาญ ในเวลาต่อมาท่านจึงได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่วัดบางเหี้ยนอก(วัดมงคลโคธาวาส) โดยมีพระซึ่งเป็นสหายสนิทตามมาด้วยองค์หนึ่งชื่อ หลวงพ่อเรือน  หลังออกพรรษาท่านและหลวงพ่อเรือนก็เริ่มออกธุดงค์ และในพรรษาต่อๆ มาก็มีพระผู้ติดตามมากขึ้น จนกระทั่งออกธุดงค์ครั้งละเป็นร้อยรูป

ภาพวาดหลวงพ่อแตง วัดอ่างศิลา พระอาจารย์ของหลวงพ่อปาน

   หลวงพ่อปานและหลวงพ่อเรือนได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อแตง วัดอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี เพื่อศึกษาพระธรรมและศึกษาด้านวิปัสนาธุระ หลวงพ่อแตงได้ชื่อว่าเป็นผู้มีวิทยาคมขลังอีกด้วย หลวงพ่อปานจึงได้เรียนวิทยาคมจากหลวงพ่อแตง โดยเฉพาะวิทยาคมการสร้างและปลุกเสกเขี้ยวเสืออันลือลั่น 

   เมื่อหลวงพ่อปานศึกษากับหลวงพ่อแตงจนมีความเชี่ยวชาญแล้ว จึงได้อำลาพระอาจารย์กลับมาพำนักอยู่ที่วัดบ้านเกิดพร้อมด้วยพระอาจารย์เรือน ณ วัดบางเหี้ย(ปัจจุบันคือวัดมงคลโคธาวาส)


   หลวงพ่อปาน เป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติธรรมวินัยเคร่งครัดโดยปฏิบัติกิจของสงฆ์เป็นประจำทุกวัน เช่น การนำพระสงฆ์ออกบิณฑบาตทุกๆเช้า นอกจากวันที่เจ็บป่วยจนไปไม่ไหวแล้วท่านก็ปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน หรือการนำพระสงฆ์สวดมนต์เช้าเย็นที่หอสวดมนต์เป็นประจำทุกวันโดยสวดมนต์เป็นคัมภีร์หรือผูกเป็นเล่มเป็นวันๆ ไปกระทั่งสวดปาฏิโมกข์ ด้วยเหตุนี้ในสมัยของท่านนั้นบรรดาพระลูกวัดของท่านจึงสวดมนต์เก่งมาก ที่ขาดไม่ได้ก็คือท่านจะนำพระออกธุดงค์เป็นประจำ จะมีพระร่วมขบวนธุดงค์ไปครั้งละมากๆ

   ด้วยคุณความดีและคุณธรรมอันสูงส่งของหลวงพ่อปานที่ได้ประกอบขึ้นไว้แต่เมื่อครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ ทำให้ราษฎรทั้งในตำบลใกล้เคียงไปจนกระทั่งต่างอำเภอและต่างจังหวัดพากันเคารพนับถือและรำลึกถึงท่านอย่างไม่เสื่อมคลาย



   ก่อนที่หลวงพ่อปานจะมรณภาพนั้นประชาชนที่มีความเคารพบูชาท่านได้พร้อมใจกันหล่อรูปเหมือนของท่านขึ้นมาองค์หนึ่งขนาดเท่าตัวจริง เพื่อไว้เป็นที่เคารพบูชากราบไหว้รูปหล่อแทนตัวท่าน เพราะท่านไม่ค่อยได้อยู่วัดเนื่องจากมักจะเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ เป็นประจำ แต่เมื่อหล่อรูปเหมือนท่านขึ้นแล้วท่านก็ไม่ค่อยจะเข้าวัด มักจะปลีกตัวไปจำวัดที่พระปฐมเป็นประจำ

   เล่ากันว่าการที่หลวงพ่อปานไม่อยากเข้าวัดนั้นอาจเป็นเพราะท่านรู้ล่วงหน้าว่าถึงคราวจะหมดอายุขัยแล้วจึงต้องการความสงบในการพิจารณาธรรมก็เป็นได้ แต่ท่านก็ไม่ได้บอกกับใครๆ เมื่อญาติโยมอ้อนวอนมากๆเข้า ท่านก็บ่ายเบี่ยงไปว่า เข้าไปไม่ได้ อ้ายดำมันอยู่ ขืนเข้าไปอ้ายดำมันจะเอาตาย ซึ่งคำว่า อ้ายดำ หมายถึงรูปหล่อของท่านนั่นเอง

   ท่านมรณภาพ เมื่อ วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2453 เวลา 4 ทุ่ม 45 นาที พระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2454

เขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน
   เรื่องเขี้ยวเสือของหลวงพ่อปานนี้เล่ากันเป็นตำนานว่า ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาที่ จ.สมุทรปราการ หลวงพ่อปานได้เข้าเฝ้าและได้ให้เด็กวัดถือพานใส่เขี้ยวเสือที่แกะเป็นรูปเสือไปด้วย เมื่อไปถึงที่ประทับของพระพุทธเจ้าหลวง เด็กที่ถือพานเกิดประหม่ามือสั่นทำเขี้ยวเสือหล่นลงไปในน้ำ หลวงพ่อปานจึงให้เอาเนื้อหมูมาผูกปลายไม้แล้วหย่อนเนื้อหมูลงน้ำ ปรากฏว่าเขี้ยวเสือแกะงับติดชิ้นเนื้อหมูขึ้นมาต่อเบื้องพระพักตร์กันเลย
 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ซึ่งประทับทอดพระเนตรอยู่ตลอด จนถึงกับตรัสกับหลวงพ่อปานว่า "พอแล้วหลวงตา" ทรงโปรดหลวงพ่อปานมาก และทรงเรียกหลวงพ่อปานว่า พระครูป่า เพราะหลวงพ่อปานชอบธุดงควัตร

พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง "เสด็จประพาสมณฑลปราจิณ" ได้เล่าถึงหลวงพ่อปานไว้ว่า

พระครูปานมาหาด้วย พระครูปานรูปนี้นิยมกันในทางวิปัสสนาและธุดงค์วัตร มีพระสงฆ์วัดต่างๆ ไปธุดงค์ด้วยสองร้อยสามร้อย แรกลงไปประชุมที่วัดบางเหี้ยมีสัปบุรุษที่ศรัทธาเลื่อมใสช่วยกันเลี้ยงกินน้ำจืดที่มีไว้เกือบจะหมดแล้วก็ออกเดิน ทางที่เดินนั้นลงไปบางปลาสร้อย แล้วจึงเวียนกลับขึ้นไปปราจิณ นครนายก ไปพระบาท แล้วเดินลงมาทางสระบุรี ถ้ามาตามทางรถไฟแต่ไม่ขึ้นรถไฟเว้นแต่พระที่เมื่อยล้าเจ็บไข้ ผ่านกรุงเทพฯ กลับลงไปบางเหี้ย ออกเดินทางอยู่ในแรมเดือนยี่กลับไปวัดอยู่ในราวเดือนห้าเดือนหก ประพฤติเป็นอาจิณวัตรเช่นนี้มา 40 ปีแล้ว

คุณวิเศษที่คนเลื่อมใสคือ ให้ลงตะกรุด ด้ายผูกข้อมือ รดน้ำมนต์ ที่นิยมกันมากคือ เขี้ยวเสือแกะเป็นรูปเสือ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ฝีมือหยาบๆ ข่าวที่ร่ำลือกันว่า เสือนั้นเวลาจะปลุกเสกต้องใช้หมูมาล่อ ปลุกเสกเป่าเข้าไปเมื่อไรเสือนั้นจะกระโดดลงไปในเนื้อหมูได้

ตัวพระครูเองเห็นจะได้ความลำบากเหน็ดเหนื่อยในการที่ใครๆ กวนให้ลงโน่นลงนี่ เขาว่าบางทีก็หนีไปอยู่ในป่าช้าที่พระบาทฯ(สระบุรี) บางทีก็หนีไปอยู่บนเขาโพธิ์ลังกา คนก็ยังตามไปกวนไม่เป็นอันหลับอันนอน แต่บริวารเห็นจะได้ผลประโยชน์ในการทำอะไรๆ ขาย เวลาแย่งชิงก็ขึ้นไปถึง 3 บาท ว่า 6 บาทก็มี ได้รูปเสือนั้นแล้วจึงไปให้พระครูปลุกเสก สังเกตดูอัธยาศัยเป็นคนแก่ใจดีมีกิริยาเรียบร้อย อายุ 70 แล้วยังไม่แก่มาก รูปร่างล่ำสันใหญ่โต เป็นคนพูดน้อยมีคนมาช่วยพูด"

   หลวงพ่อปานวัดบางเหี้ยมรณภาพไปกว่าร้อยปีแล้ว แต่ประชาชนยังเคารพรักหลวงพ่อปานอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย ทุกๆปีจะมีงานแห่รูปหล่อหลวงพ่อปานจากวัดบางเหี้ย โดยเป็นการแห่รูปหล่อหลวงพ่อปานอย่างน่าทึ่งเป็นราวกับงานมหกรรมอย่างหนึ่ง คือจะแห่รูปหล่อหลวงพ่อปานลงเรือ แล้วแล่นออกทะเลไปไกล จะมีขบวนเรือแห่ติดตามกันไปเป็นร้อยๆลำ

ภาพจาก uamulet.com


   เมื่อแห่รูปหล่อหลวงพ่อปานออกไปยังทะเลลึกแล้ว ก็จะมีประเพณีชิงธงหลวงพ่อปาน โดยเรือลำทีอัญเชิญรูปหล่อหลวงพ่อปานมาด้วยนั้น จะมีธงรูปหลวงพ่อปานลงยันต์ติดมาด้วย คนบนเรือจะเอาธงหลวงพ่อปานติดปลายไม้ไผ่ แล้วยิ่นออกไปในทะเล ขบวนเรือที่ติดตามมาด้วยก็จะเร่งเรือขึ้นมาหยิบธงหลวงพ่อปานไปให้ได้ เป็นการชิงธงหลวงพ่อปานกลางทะเลกันเลยทีเดียว พอชิงธงหลวงพ่อปานไปพอสมควรแล้วก็แห่รูปหล่อหลวงพ่อปานกลับวัด จะมีคนรอกราบนมัสการกันอย่างเนืองแน่น

     ปัจจุบันนี้รูปหล่อของหลวงพ่อปานก็ยังประดิษฐานอยู่ที่วัดมงคลโคธาวาส ซึ่งปรากฏความศักดิ์สิทธิ์มีประชาชนนับถือกันมาก ต่างพากันมากราบนมัสการและขอน้ำมนต์ที่หน้ารูปหล่อของท่านเอาไปเป็นศิริมงคล

 
งานแห่รูปหล่อหลวงพ่อปาน กำลังลงจากศาลา

ในเรือลำที่อัญเชิญรูปหล่อหลวงพ่อปาน

มีขบวนเรือติดตามมากมาย

ชิงธงหลวงพ่อปานจากปลายไม้

ธงหลวงพ่อปานวัดบางเหี้ยใครๆก็อยากได้

เสี่ยงขนาดนี้ยังตามมาชิงธงหลวงพ่อปาน

แจกธงแล้วหลวงพ่อปานกลับวัด

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจากวิกิพิเดีย,หนังสือประวัติหลวงพ่อปานวัดมงคลโคธาวาส,uamulet.com,
หนังสือพิมพ์รอยธรรม

วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต วัดระฆังฯ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี
วัดระฆังโฆษิตาราม วรมหาวิหาร

สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต วัดระฆังฯ


ประวัติความเป็นมาของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ที่จดจำเล่าขานต่อๆกันมานั้น พอได้ยินแล้วชวนให้สนุกและได้คติธรรมมากมาย เรื่องราวของสมเด็จฯโตมีมากขนาดบันทึกกันได้เป็นหนังสือเล่มใหญ่ๆ ถ้านำมาเล่าโดยละเอียดคงจะไม่ไหว ส่วนประวัติพอเป็นสังเขปพอที่จะเล่าสู่กันฟังได้แบบคร่าวมีดังนี้       
               
      เล่ากันต่อๆมาว่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ถือกำเนิดขึ้นที่บ้านไก่จ้น(ท่าหลวง) อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเกิดในเรือที่มารดาจอดไว้ที่หน้าวัดไก่จ้น ช่วงเวลาที่เกิดคือ วันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๑๕๐ เวลาพระบิณฑบาต ตรงกันสุริยคติกาล ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๓๓๑




      บิดามารดาของท่านมีเรื่องเล่ากันมาหลายกระแส สำนวนของพระครูกัลยานุกูลว่า มารดาชื่อเกตเป็นคนท่าอิฐ บิดาเป็นผู้มีบุญญาธิการสูง โดยบันทึกไว้ว่าคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สำนวนของพระยาทิพโกษาว่า มารดาชื่องุด บิดาเป็นผู้มีบุญญาธิการสูงคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้งยังเป็นเจ้าพระยาจักรี แต่เรื่องบิดาของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯโตนี้ เป็นเพียงเรื่องเล่าที่ยังไม่ยืนยันแน่ชัด คล้ายๆกับประเภทพงศาวดารกระซิบ

      ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปีพ.ศ.๒๓๔๓ ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดปรานสามเณรโตมาก พอถึงพ.ศ.๒๓๕๐ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สามเณรโตอุปสมบทเป็นนาคหลวง มีสมเด็จพระสังฆราชสุก ญาณสังวร เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า พฺรหมฺรํสี เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯรับพระภิกษุโตไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์




       พระภิกษุโตแตกฉานในพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง แต่มิได้เข้าแปลบาลีเป็นเปรียญแต่ประการใด ด้วยพระภิกษุโตมิได้สนใจในสมณศักดิ์ใดๆ แม้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงสถาปนาสมณศักดิ์เพื่อยกย่อง พระภิกษุโตก็ขอพระราชทานไม่รับ เพราะชอบสันโดษ แถมยังหนีไปธุดงค์อีกต่างหาก

          พระภิกษุโตชอบที่จะออกธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ และสร้างปูชนียวัตุที่มีขนาดใหญ่ไว้หลายแห่ง เช่น พระพุทธรูปหลวงพ่อโตวัดไชโย จังหวัดอ่างทอง  พระพุทธไสยาสน์วัดสะตือ จังหวัดอ่างทอง หลวงพ่อโตวัดอินทรฯบางขุนพรหม

          เล่ากันว่าพระพุทธไสยาสน์หรือพระนอนวัดสะตือ ท่านสร้างเป็นอนุสรณ์ว่าเกิดมานอนแบเบาะ ในละแวกวัดสะตือแห่งนี้ พระพุทธรูปนั่งหลวงพ่อโตวัดไชโยคือ สอนนั่งได้ในละแวกนี้ ส่วนหลวงพ่อโตวัดอินทร์คือท่านเริ่มยืนได้ในละแวกนี้ พระพุทธรูปแต่ละองค์มีขนาดใหญ่โตทั้งนั้น




          ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระภิกษุโตได้รับการถวายสมณศักดิ์ในปีพ.ศ.๒๓๙๕ ที่พระธรรมกิตติ นัยว่าไม่สามารถปฏิเสธรับสมณศักดิ์ได้ ขณะนั้นท่านมีอายุได้๖๕พรรษา และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ถึง พ.ศ.๒๓๙๕ ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่พระเทพกวี

          พ.ศ.๒๔๐๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ในราชทินนาม สมเด็จพระพุฒาจารย์  อเนกปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ สิริสุนทร พรตจาริก อรัญญิกคนฤสร สมณนิกรมหาปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวง




          สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ได้สร้างพระหลวงพ่อโต(พระศรีอริยเมตไตรย)ขึ้นที่วัดบางขุนพรหมใน หรือวัดอินทรวิหารในปัจจุบัน สร้างถึงพระนาภี ท่านก็มรณภาพที่ศาลา ตรงกับวันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘(๒๒มิ.ย.๒๔๑๕) สิริอายุ ๘๔ปี๖๔พรรษา

     เกร็ดประวัติของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โตมีเรื่องเล่าสืบต่อๆกันมาหลายเรื่อง ซึ่งฟังแล้วสนุกพร้อมไปกับมีอารมณ์ขันและแฝงธรรมะอีกด้วย เช่น

งมกระโหลกตักน้ำ
     ครั้งหนึ่งสมเด็จฯโตท่านไปธุระด้วยเรือ โดยมีศิษย์เป็นผู้พายเรือให้ เมื่อเสร็จกิจแล้วจึงพายเรือกลับวัด ในระหว่างทางศิษย์ของท่านหยุดพักเอากระโหลก(ขันตักน้ำ)ตักน้ำมาล้างหน้า แต่แล้วกลับทำกระโหลกตกจมน้ำหายไป ลูกศิษย์ของสมเด็จฯโตจึงจะลงไปงมในน้ำ แต่สมเด็จฯโตท่านพูดว่า ไม่ต้องงมหรอกจ้ะน้ำมันลึกจะงมไม่เจอ เดี๋ยวไปงมที่หน้าวัดระฆังก็ได้ จากนั้นจึงให้ศิษย์พายเรือกลับวัด เมื่อถึงวัดระฆังฯแล้วศิษย์จึงทดลองลงไปงมกระโหลกที่ท่าน้ำหน้าวัด ปรากฏว่าได้กระโหลกตักน้ำใบเดิมขึ้นมาจริงๆ


 ยายแฟง
     ครั้งหนึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีหญิงชื่อ ยายแฟง เป็นเจ้าของซ่องโสเภณี คนเรียกซ่องนี้ว่า "โรงยายแฟง" อยู่ที่บริเวณตรอกเต๊า ถนนเยาวราช ยายแฟงอยากสร้างวัดเพราะในยุครัชกาลที่สามนั้น ผู้ดีมีเงินนิยมสร้างวัดตามพระราชนิยม ยายแฟงเองก็มีใจศรัทธาในพุทธศาสนาอยู่เหมือนกัน เสียแต่ว่ามีอาชีพทำซ่องโสเภณี ยายแฟงชวนหญิงโสเภณีในสำนัก เรี่ยไรเงินได้จากการค้าประเวณีมาช่วยกันสร้างวัด มีหลักฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ ชื่อว่า วัดคณิกาผล

     เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้ว ยายแฟงจึงนิมนต์ขรัวโต ซึ่งต่อมาได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) มาเทศน์ฉลอง หวังจะให้เทศน์สรรเสริญคุณงามความดีของนางในครั้งนี้ต่อที่ชุมชน เพราะยายแฟงสร้างวัดตามพระราชนิยม คือรัชกาลที่สามทรงโปรดสร้างวัดบ่อยๆ ราษฎรในสมัยนั้นจึงนิยมสร้างวัดตามไปด้วย

     ขรัวโต(ท่านชอบให้ชาวบ้านเรียก)มาถึงที่วัดแล้ว ท่านกลับเทศน์สั่งสอนว่า ทำบุญเอาหน้า แม้จะเป็นบุญใหญ่ ก็ได้บุญน้อย การที่ยายแฟงมีจิตศรัทธาสร้างวัดครั้งนี้ เงินสร้างวัดของยายแฟงได้มาโดยไม่บริสุทธิ์ ยายแฟงจึงได้บุญไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย  ยายแฟงจะได้อานิสงส์เพียงแค่สลึงเฟื้องเท่านั้น




เทศน์สิบสองนักษัตร
     ครั้งหนึ่งคนของขุนนางใหญ่ท่านหนึ่งถูกใช้ให้มานิมนต์สมเด็จฯโตเทศน์ โดยนิมนต์ให้ไปเทศน์ที่บ้านในเรื่องอริยสัจ แต่ผู้มานิมนต์จำผิดๆถูกๆเลยนิมนต์ว่าให้เทศเรื่องนักษัตร ซึ่งกัณฑ์เทศน์เช่นนี้ไม่มี

     เมื่อถึงกำหนดวันนิมนต์เทศน์ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โตก็เดินทางไปถึงบ้านงาน จากนั้นท่านก็ลงมือแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องสิบสองนักษัตร โดยท่านแต่งขึ้นมาใหม่ให้ในเรื่องสิบสองนักษัตรนั้นแฝงไปด้วยอริยสัจสี่ เริ่มกันตั้งแต่ ชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม วอก ระกา จอ กุน

     แรกๆขุนนางเจ้าของงานก็ตกใจ และโกรธคนที่ไปนิมนต์สมเด็จฯโตว่าทำให้เทศน์ผิด แต่สำนวนโวหารที่สมเด็จฯโตท่านเทศน์นั้น เต็มไปด้วยสำนวนที่ไพเราะใช้คำอุปมาอุปมัยง่ายๆ ทำให้ฟังเพลิดเพลินและเข้าใจตาม ทั้งยังอยู่ในแนวของอริยสัจสี่ด้วย

     พอสมเด็จฯโตท่านเทศน์จบแล้ว ท่านก็ได้อธิบายว่า การที่ท่านได้มาเทศน์เรื่องสิบสองนักษัตรนั้น ความดีอยู่ที่คนนิมนต์ ท่านจึงเทศน์ไปตามที่นิมนต์ และเรื่องสิบสองนักษัตรแบบนี้ยังไม่เคยมีใครเทศน์มาก่อน ดังนั้นงานวันนี้จึงมีอานิสงส์มาก ท่านขุนนางใหญ่จึงปลาบปลื้มหายโกรธคนนิมนต์อีกด้วย

จุดเทียนตอนกลางวัน
     ครั้งหนึ่งผลัดแผ่นดินเป็นสมัยรัชกาลที่ ๕ ใหม่ๆ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โตได้จุดเทียนตอนกลางวัน แล้วเดินถือเทียนไปพบสมเด็จเจ้าพระยาผู้บริหารราชกาลแผ่นดิน ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาเมื่อเห็นอากัปกริยาแปลกๆของสมเด็จฯโต ก็เข้าใจได้ในทันทีจนต้องกราบนมัสการว่า โยมรู้แล้วๆ

ขรัวโตเข็นเรือ
     วันหนึ่งสมเด็จฯโตพายเรือไปกิจนิมนต์ด้วยตัวท่านเอง พอขากลับตอนพายเรือมาตามลำคลองเกิดน้ำลดพอดี เรือของท่านจึงติดเลนไปต่อไม่ได้ สมเด็จฯโตจึงลงไปเข็นเรือบนเลนด้วยตัวท่านเอง ชาวบ้านที่เห็นท่านเข็นเรือก็ร้องทักว่าเป็นสมเด็จมาเข็นเรือได้อย่างไร ท่านก็ตอบว่าตอนนี้ท่านไม่ใช่สมเด็จฯเพราะสมเด็จฯอยู่บนเรือ ดังนั้นจึงเข็นเรือได้ ข้อนี้หมายถึงว่าพัดยศสมณศักดิ์สมเด็จฯท่านวางไว้ในเรือนั่นเอง ท่านจึงเป็นแค่ขรัวโต

     เรื่องราวสนุกๆของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โตมีเกร็ดเล่าไว้มาก ทั้งเรื่องหวยที่มีคนนิยมไปขอหวยจากท่าน เรื่องคติธรรมแปลกๆเข้าใจง่ายๆก็มีมาก หรือเรื่องที่ท่านไม่ยึดติดในสมณศักดิ์ แม้แต่ยังมีเรื่องที่ท่านไปปราบแม่นาคพระโขนง

     เรื่องราวของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โตนี้มีมากมายจริงๆ ถ้าอยากทราบโดยละเอียดก็คงต้องหาหนังสือประวัติของท่านมาอ่าน ซึ่งแต่ละสำนวนเล่มใหญ่ๆทั้งนั้น หรือจะหาเป็นแผ่นซีดีมาฟังก็สนุกสนานได้คติธรรม

     ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี หรือ ขรัวโต ของประชาชน ได้รับการขนานนามจากมหาชนชาวไทยให้เป็น พระมหาอมตะเถราจารย์แห่งสยาม ซึ่งแสดงถึงความเคารพรักศรัทธาของประชาชนชาวไทยที่มีต่อท่านเป็นอย่างยิ่ง




     
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆและรูปภาพจากวิกิพิเดีย,ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โตของวัดระฆังฯ

และขอบคุณรูปภาพจากเว็บไซต์ที่หาที่มาต้นทางไม่ได้แล้ว



วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

สมเด็จพระสังฆราช แพ วัดสุทัศนฯ





สมเด็จพระสังฆราช แพ ติสฺสเทวะ 
พระสังฆราชองค์ที่ 12 (พ.ศ. 2481-2487)


สมเด็จพระสังฆราช วัดสุทัศน์เทพวราราม พระนามเดิมว่า แพ พระฉายานาม ติสสเทวะ ประสูติในสมัยรัชกาลที่ ๔ ตรงกับวันพุธ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๑๘ ตรงกับสุริยคติวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2399 บิดาชื่อ นุตร์ มารดาชื่อ อ้น เป็นชาวสวนบางลำภูล่าง อำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี มีพี่น้องร่วมมารดาบิดาเดียวกันรวม ๗ คน คือ
๑. นางคล้าม พงษ์ปาละ
๒. สมเด็จพระสังฆราช (แพ)
๓. หลวงพุทธพันธพิทักษ์ (อยู่)
๔. นางทองคำ พงษ์ปาละ
๕. นางทองสุข พงษ์ปาละ
๖. นายชื่น พงษ์ปาละ
๗. นายใหญ่ พงษ์ปาละ


   สมเด็จพระสังฆราชแพมีภูมิลำเนาสถานที่กำเนิดแถบบางลำพูล่าง อ.คลองสาน ธนบุรี มีนามสกุลว่า พงษ์ปาละ เมื่อเยาว์วัยประมาณ ๗ ขวบปีได้ศึกษาที่วัดทองนพคุณแถบคลองสาน พอเจริญวัยได้ ๑๓โยมบิดาได้พามาถวายตัวเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัตสมบุรณ์(ครั้งเป็นพระธรรมวโรดมวัดราชบุรณะ) ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดราชบุรณะ แล้วกลับไปอยู่ที่วัดทองธรรมชาติเพื่อศึกษาต่อ ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระอาจารย์โพวัดเศวตฉัตร

สมเด็จพระสังฆราช แพ ติสฺสเทวะ

    ต่อมาสมเด็จพระวันรัตสมบุรณ์(สมบุรณ์เขียนตามสำนวนเดิม)ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าจากรัชกาลที่๕ ให้ย้ายไปครองวัดพระเชตุพนฯเมื่อพ.ศ.๒๔๑๕ สมเด็จพระวันรัตสมบุรณ์ได้ให้สามเณรแพที่ขณะนั้นมีอายุ ๑๖ ปีมาอยู่ด้วย สามเณรแพรจึงได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจากสมเด็จพระวันรัตสมบุรณ์ ทั้งยังคงศึกษากับพระอาจารย์โพอยู่เนืองๆ ที่สำนักสมเด็จพระวันรัตนี้เอง สามเณรแพได้มีโอกาสศึกษากับนักปราชญ์ในยุคนั้นหลายท่านเช่น เสมียนตราศุข พระโหราธิบดี ชุ่ม

       ต่อมาสมเด็จพระวันรัตสมบุรณ์ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าจากรัชกาลที่๕ ให้ย้ายไปครองวัดพระเชตุพนฯเมื่อพ.ศ.๒๔๑๕ สมเด็จพระวันรัตสมบุรณ์ได้ให้สามเณรแพที่ขณะนั้นมีอายุ ๑๖ ปีมาอยู่ด้วย สามเณรแพรจึงได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจากสมเด็จพระวันรัตสมบุรณ์ ทั้งยังคงศึกษากับพระอาจารย์โพอยู่เนืองๆ ที่สำนักสมเด็จพระวันรัตนี้เอง สามเณรแพได้มีโอกาสศึกษากับนักปราชญ์ในยุคนั้นหลายท่านเช่น เสมียนตราศุข พระโหราธิบดี(ชุ่ม)

         พ.ศ.๒๔๑๙สามเณรแพมีอายุครบบวช แต่สมเด็จพระวันรัตสมบุรณ์อาพาธ สามเณรแพต้องอยู่ดูแลจึงยังไม่มีโอกาสบวช พอสมเด็จพระวันรัตสมบุรณ์ใกล้มรณภาพได้แนะนำให้สามเณรแพไปถวายตัวเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัตแดงวัดสุทัศนฯ ครั้งยังเป็นพระเทพกระวี

สมเด็จพระวันรัต แดง วัดสุทัศนฯ

         พ.ศ.๒๔๒๒สามเณรแพมีอายุ ๒๒ ปี จึงค่อยได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเศวตฉัตร ซึ่งเป็นละแวกบ้านเดิม โดยมีสมเด็จพระวันรัตแดง(ขณะเป็นพระธรรมวโรดม)เป็นพระอุปัชฌาย์ อุปสมบทแล้วจึงย้ายจากวัดพระเชตุพนฯไปอยู่กับสมเด็จพระวันรัตแดงที่วัดสุทัศนฯ

          พระภิกษุแพศึกษาพระปริยัติธรรมกับสมเด็จพระวันรัตแดง ทั้งยังได้ไปศึกษากับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์สาวัดราชประดิษฐ์(ต่อมาเป็นสมด็จพระสังฆราช) พระภิกษุแพเข้าแปลพระปริยัติธรรมขณะที่เป็นพระครูวินัยธร แปลได้เป็นเปรียญ ๔ ประโยคเมื่อพ.ศ.๒๔๒๕ พอถึงพ.ศ.๒๔๒๘เข้าแปลพระปริยัติธรรมที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แปลได้อีก ๑ ประโยครวมเป็นเปรียญ ๕ ประโยค

          พระมหาแพปฏิบัติศาสนกิจด้วยความเอาใจใส่เป็นอย่างดี ได้รับพระราชาทานสมณศักดิ์เจริญก้าวหน้าตามลำดับดังนี้     
                 พ.ศ.๒๔๓๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระศรีสมโพธิ
                 พ.ศ.๒๔๓๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเสมอพระราชาคณะผู้ใหญ่ชั้นเทพ ในราชทินนามเดิมคือ พระศรีสมโพธิ
                 พ.ศ.๒๔๔๑ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระเทพโมลี
                 พ.ศ.๒๔๔๓ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมโกษาจารย์
                 พ.ศ.๒๔๕๕ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระพรหมมุนี
                 พ.ศ.๒๔๖๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี
                 พ.ศ.๒๔๗๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาเป็น สมเด็จพระวันรัต
                 พ.ศ.๒๔๘๑ เป็นรัชสมัยของรัชกาลที่ ๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๑ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระสุพรรณบัฏตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๒

   สมเด็จพระสังฆราชแพทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างเต็มกำลัง ทั้งยังเป็นมิ่งขวัญแก่ศิษยานุศิษย์ตลอดจนประชาชนทั้งหลายโดยไม่เลือกเชื้อชาติหรือฐานะ จึงมีมหาชนเคารพศรัทธากันมาก

ภาพจาก dhammajak.net ครั้งเป็นพระเทพโมฬี

การแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยครั้งแรก

          ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่สร้างกรุงเทพฯจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๘ ได้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกถึง ๓ ครั้ง คือครั้งรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๗ เป็นการสังคายนาบาลีให้ถูกต้อง แต่การแปลบาลีพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยให้จบครบถ้วนยังไม่มี คงมีแต่แปลกันเป็นเฉพาะเรื่องเฉพาะตอนเท่านั้น สมเด็จพระสังฆราชแพทรงดำริที่จะแปลพระไตรปิฎกบาลีเป็นภาษาไทยให้จบทั้งคัมภีร์ เพื่อที่เป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชนพุทธบริษัทสี่ชาวไทย การนี้ได้รับพระราชทานให้เป็นพระบรมราชูปถัมภ์ การแปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีให้เป็นภาษาไทยจึงเกิดขึ้นในสมัยของสมเด็จพระสังฆราชแพ ติสฺสเทวมหาเถระนี่เอง

ครั้งเป็นพระพรหมมุนี แพ

แถวนั่งที่3จากซ้าย ครั้งเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ แพ
ภาพจาก dhammajak.net

ภาพจาก dhammajak.net
แถวหน้าที่จากซ้าย ครั้งเป็นสมเด็จพระวันรัต แพ
  เสด็จดับขันธ์            

          สมเด็จพระสังฆราชแพทรงบำเพ็ญศาสนกิจเป็นอันมาก ทั้งๆที่ทรงมีพระชนมายุมากแล้วก็ยังมิได้ทอดทิ้งกิจนั้น  ความตรากตำเอาใจใส่ทรงงานหนัก ในที่สุดพระองค์ก็เริ่มประชวรมากขึ้น จนกระทั่งวันเสาร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๗ พระองค์จึงเสด็จดับขันธ์สิ้นพระชนม์ นับสิริพระชนมายุได้ ๘๙ พรรษา พระพรรษาผนวช ๖๖ พรรษา ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเวลา ๗ พรรษา


พระกริ่งวัดสุทัศนฯ

          สมเด็จพระสังฆราชแพเป็นผู้ทรงคุณทางพระกรรมฐานมาก ทั้งรอบรู้วิชาการของโบราณสารพัด พระองค์ได้สถาปนาพระเครื่องที่มีชื่อเสียงมากแบบหนึ่ง นั่นคือพระโลหะที่เขย่าแล้วมีเสียงกริ๊กๆ เรียกพระเครื่องแบบนี้ว่าพระกริ่ง ถือกันว่าในบรรดาพระหล่อโลหะทั้งปวง พระกริ่งเป็นพระชั้นสูงสุด มีขั้นตอนการสร้างยาก ระเบียบแบบแผนในการสร้างและพิธีกรรมมาก ผู้สร้างต้องมีความอุตสาหะสูง มีสมาธิจิตสูง

           การที่สมเด็จพระสังฆราชแพทรงสนพระทัยในการสร้างพระกริ่งนั้น ท่านอาจารย์ นิรันดร์ แดงวิจิตร ผู้เป็นศิษย์รับใช้ใกล้ชิด และเคยเป็นพระเลขาฯของสมเด็จพระสังฆราชแพ ได้เขียนไว้ในหนังสือตำนานพระกริ่งว่า

อาจารย์ นิรันดร์ แดงวิจิตร
อาจารย์ นิรันดร์ เจิมหน้าผากในวันไหว้ครูที่ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช แพ

           ครั้งหนึ่งสมเด็จพระวันรัตแดงอาพาธเนื่องจากอหิวาตกโรค ขณะนั้นสมเด็จพระสังฆราชแพยังเป็นที่พระศรีสมโพธิ ในครั้งนั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสเสด็จมาเยี่ยม รับสั่งว่าเคยเห็นสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ เสด็จพระอุปัชฌาย์ของพระองค์เอง อาราธนาพระกริ่งแช่น้ำอธิษฐานทำน้ำมนต์ให้คนเป็นอหิวาต์ดื่มกิน ปรากฏว่าหายจากโรคได้

          แล้วสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯรับสั่งให้มหาดเล็กไปเอาพระกริ่งที่วัดบวรฯ สมเด็จพระวันรัตแดงกราบทูลว่าพระกริ่งที่กุฏิมี สมเด็จพระมหาสมณเจ้ารับสั่งให้นำพระกริ่งมาอาราธนาทำน้ำมนต์  แล้วถวายให้สมเด็จพระวันรัตแดงฉัน อาการป่วยก็ทุเลาลงจนหายดี 

          นับแต่นั้นพระศรีสมโพธิ(พระสังฆราชแพ)จึงสนใจในการสร้างพระกริ่ง ได้สืบสวนเสาะหาวิธีการสร้างพระกริ่ง ค้นคว้าจนกระทั่งสามารถผสมเนื้อโลหะออกมาได้มีวรรณะสีผิวหลายอย่าง และที่กลับดำสนิท เรียกว่าเนื้อนวโลหะนั่นเอง สำหรับตำราการสร้างพระกริ่งนั้น ได้รับมาจากพระพุฒาจารย์มา วัดสามปลื้ม หรือที่เรียกกันว่าท่านเจ้ามา 


ท่านเจ้ามาวัดสามปลื้ม
  
          สมเด็จพระสังฆราชแพทรงสร้างพระกริ่งครั้งแรกเมื่อครั้งเป็นพระเทพโมฬี และได้สร้างต่อมาโดยตลอด จำนวนการสร้างในแต่ละครั้งค่อนข้างน้อย ยกเว้นในกรณีที่มีผู้ขอให้สร้างมากหน่อยเฉพาะเท่าที่จำเป็น ในปัจจุบันพระกริ่งของสมเด็จพระสังฆราชแพเป็นที่นิยมของนักสะสมพระเครื่องกันมาก และหายากมากๆ นับเป็นวัตถุมงคลในฝันกันเลย
          ในปัจจุบันนี้ที่วัดสุทัศนฯยังมีพิธีทำบุญไหว้ครูระลึกถึงสมเด็จพระสังฆราชแพ โดยจะทำบุญในวันเพ็ญเดือน ๑๒ ของทุกปี












ข้อมูลจากที่ได้สนทนากับตุณตาหนู(อ.นิรันดร์ แดงวิจิตร)
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากวิกิพิเดีย,www.dhammajak.net