พระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ (หลวงพ่อปาน อคฺคปญฺโญ)
(พ.ศ. 2368 - 29 สิงหาคม พ.ศ. 2453)
วัดมงคลโคธาวาส (วัดบางเหี้ย) อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
หลวงพ่อปานท่านเป็นพระปรมาจารย์ในตำนานระดับต้นๆของสยามประเทศ ชาวไทยต่างรู้จักหลวงพ่อปานวัดบางเหี้ยด้วยกันทั้งนั้น ท่านเป็นเจ้าของตำนานเขี้ยวเสือไร้เทียมทานที่ไม่มีผู้ใดเทียบได้ แม้ว่าท่านจะมรณภาพไปร้อยกว่าปีแล้ว แต่มหาชนยังศรัทธาทานอยู่อย่างเหนียวแน่น
หลวงพ่อปาน เกิดที่คลองนางโหง (คลองนางหงษ์)
ตำบลบางเหี้ย(ตำบลคลองด่านในปัจจุบัน) อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เกิดเมื่อปี
พ.ศ. 2368 บิดาเชื้อชาติจีน ชื่อ "ปลื้ม" มารดาเชื้อชาติไทยชื่อ "นางตาล"
อาชีพทำป่าจาก มีพี่น้องร่วมมารดา 5 คน คือ
1.นายเทพย์
2.นายทัต
3.หลวงพ่อปาน
4.นายจันทร์
5.นางแจ่ม
ในยุคนั้นคนไทยยังไม่มีนามสกุลใช้กัน จนกระทั่งถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นใช้ เพื่อให้เหมือนนานาอารยประเทศที่เจริญแล้ว เล่ากันว่าลูกหลานของหลวงพ่อปาน
ได้ใช้ชื่อของบรรพบุรุษมาตั้งเป็นนามสกุลว่า "หนูเทพย์" ซึ่งการตั้งนามสกุลโดยใช้ชื่อบรรพบุรุษมาใช้เป็นนามสกุลนั้น
แรกๆนิยมกันมาก เช่นเอาชื่อบิดาและมารดารวมกันเป็นนามสกุล
หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย |
หลวงพ่อปานในวัยเด็กก็แสดงถึงความโอบอ้อมอารีเที่ยงตรงและเป็นคนใจถึงเด็ดขาดพร้อมกันไปด้วย ท่านใช้ชีวิตตามแบบหนุ่มเมืองน้ำกร่อยโดยทั่วไป ที่ทำการเกษตรบ้างประมงบ้าง จนมีจุดพลิกผันครั้งสำคัญที่ทำให้ท่านตัดสินใจบวช
เล่ากันว่าวันหนึ่งท่านไปหาหญิงสาวที่รักใคร่ชอบพอกันอยู่ โดยท่านไปหาถึงที่บ้านของหญิงสาวท่านนั้น เล่ากันว่าท่านคิดจะมีครอบครัวเสียที ขณะที่ท่านจะขึ้นไปบนเรือนนั้น พอท่านล้างเท้าก้าวขึ้นบันได ปรากฏว่าบันไดหลุดออกจากกัน ท่านจึงพลัดตกบันไดลงมา ท่านจึงคิดท่านคงไม่เหมาะกับทางโลก หลักจากนั้นท่านตริตรองอยู่หลายวัน ในที่สุดก็ตัดสินใจออกบวช
อุปสมบท
หลวงพ่อปาน ได้มาบรรพชาเป็นสามเณร
ที่วัดอรุณราชวราราม(วัดแจ้ง) จังหวัด ธนบุรี จวบจนเมื่ออายุครบ 20 ปี
ท่านก็ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดอรุณราชวราราม(อารามหลวง) นั่นเอง โดยมี
"ท่านเจ้าคุณศรีศากยมุนี" เป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อปาน ศึกษาทั้งด้านวิปัสสนากรรมฐาน
รวมไปถึงไสยศาสตร์ต่างๆ โดยได้รับการถ่ายทอดจากคณาจารย์หลายองค์จนเชี่ยวชาญ
ในเวลาต่อมาท่านจึงได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่วัดบางเหี้ยนอก(วัดมงคลโคธาวาส)
โดยมีพระซึ่งเป็นสหายสนิทตามมาด้วยองค์หนึ่งชื่อ หลวงพ่อเรือน หลังออกพรรษาท่านและหลวงพ่อเรือนก็เริ่มออกธุดงค์ และในพรรษาต่อๆ มาก็มีพระผู้ติดตามมากขึ้น จนกระทั่งออกธุดงค์ครั้งละเป็นร้อยรูป
ภาพวาดหลวงพ่อแตง วัดอ่างศิลา พระอาจารย์ของหลวงพ่อปาน |
หลวงพ่อปานและหลวงพ่อเรือนได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อแตง วัดอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี เพื่อศึกษาพระธรรมและศึกษาด้านวิปัสนาธุระ หลวงพ่อแตงได้ชื่อว่าเป็นผู้มีวิทยาคมขลังอีกด้วย หลวงพ่อปานจึงได้เรียนวิทยาคมจากหลวงพ่อแตง โดยเฉพาะวิทยาคมการสร้างและปลุกเสกเขี้ยวเสืออันลือลั่น
เมื่อหลวงพ่อปานศึกษากับหลวงพ่อแตงจนมีความเชี่ยวชาญแล้ว จึงได้อำลาพระอาจารย์กลับมาพำนักอยู่ที่วัดบ้านเกิดพร้อมด้วยพระอาจารย์เรือน
ณ วัดบางเหี้ย(ปัจจุบันคือวัดมงคลโคธาวาส)
หลวงพ่อปาน
เป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติธรรมวินัยเคร่งครัดโดยปฏิบัติกิจของสงฆ์เป็นประจำทุกวัน
เช่น การนำพระสงฆ์ออกบิณฑบาตทุกๆเช้า
นอกจากวันที่เจ็บป่วยจนไปไม่ไหวแล้วท่านก็ปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน
หรือการนำพระสงฆ์สวดมนต์เช้าเย็นที่หอสวดมนต์เป็นประจำทุกวันโดยสวดมนต์เป็นคัมภีร์หรือผูกเป็นเล่มเป็นวันๆ
ไปกระทั่งสวดปาฏิโมกข์
ด้วยเหตุนี้ในสมัยของท่านนั้นบรรดาพระลูกวัดของท่านจึงสวดมนต์เก่งมาก ที่ขาดไม่ได้ก็คือท่านจะนำพระออกธุดงค์เป็นประจำ จะมีพระร่วมขบวนธุดงค์ไปครั้งละมากๆ
ด้วยคุณความดีและคุณธรรมอันสูงส่งของหลวงพ่อปานที่ได้ประกอบขึ้นไว้แต่เมื่อครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่
ทำให้ราษฎรทั้งในตำบลใกล้เคียงไปจนกระทั่งต่างอำเภอและต่างจังหวัดพากันเคารพนับถือและรำลึกถึงท่านอย่างไม่เสื่อมคลาย
ก่อนที่หลวงพ่อปานจะมรณภาพนั้นประชาชนที่มีความเคารพบูชาท่านได้พร้อมใจกันหล่อรูปเหมือนของท่านขึ้นมาองค์หนึ่งขนาดเท่าตัวจริง
เพื่อไว้เป็นที่เคารพบูชากราบไหว้รูปหล่อแทนตัวท่าน
เพราะท่านไม่ค่อยได้อยู่วัดเนื่องจากมักจะเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ เป็นประจำ
แต่เมื่อหล่อรูปเหมือนท่านขึ้นแล้วท่านก็ไม่ค่อยจะเข้าวัด
มักจะปลีกตัวไปจำวัดที่พระปฐมเป็นประจำ
เล่ากันว่าการที่หลวงพ่อปานไม่อยากเข้าวัดนั้นอาจเป็นเพราะท่านรู้ล่วงหน้าว่าถึงคราวจะหมดอายุขัยแล้วจึงต้องการความสงบในการพิจารณาธรรมก็เป็นได้
แต่ท่านก็ไม่ได้บอกกับใครๆ เมื่อญาติโยมอ้อนวอนมากๆเข้า ท่านก็บ่ายเบี่ยงไปว่า “เข้าไปไม่ได้ อ้ายดำมันอยู่ ขืนเข้าไปอ้ายดำมันจะเอาตาย” ซึ่งคำว่า “อ้ายดำ” หมายถึงรูปหล่อของท่านนั่นเอง
ท่านมรณภาพ เมื่อ วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2453 เวลา 4
ทุ่ม 45 นาที พระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2454
เขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน
เรื่องเขี้ยวเสือของหลวงพ่อปานนี้เล่ากันเป็นตำนานว่า ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาที่ จ.สมุทรปราการ หลวงพ่อปานได้เข้าเฝ้าและได้ให้เด็กวัดถือพานใส่เขี้ยวเสือที่แกะเป็นรูปเสือไปด้วย เมื่อไปถึงที่ประทับของพระพุทธเจ้าหลวง เด็กที่ถือพานเกิดประหม่ามือสั่นทำเขี้ยวเสือหล่นลงไปในน้ำ หลวงพ่อปานจึงให้เอาเนื้อหมูมาผูกปลายไม้แล้วหย่อนเนื้อหมูลงน้ำ ปรากฏว่าเขี้ยวเสือแกะงับติดชิ้นเนื้อหมูขึ้นมาต่อเบื้องพระพักตร์กันเลย
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่
5 ซึ่งประทับทอดพระเนตรอยู่ตลอด จนถึงกับตรัสกับหลวงพ่อปานว่า
"พอแล้วหลวงตา" ทรงโปรดหลวงพ่อปานมาก และทรงเรียกหลวงพ่อปานว่า พระครูป่า เพราะหลวงพ่อปานชอบธุดงควัตร
พระราชนิพนธ์
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง
"เสด็จประพาสมณฑลปราจิณ" ได้เล่าถึงหลวงพ่อปานไว้ว่า
“พระครูปานมาหาด้วย
พระครูปานรูปนี้นิยมกันในทางวิปัสสนาและธุดงค์วัตร มีพระสงฆ์วัดต่างๆ
ไปธุดงค์ด้วยสองร้อยสามร้อย
แรกลงไปประชุมที่วัดบางเหี้ยมีสัปบุรุษที่ศรัทธาเลื่อมใสช่วยกันเลี้ยงกินน้ำจืดที่มีไว้เกือบจะหมดแล้วก็ออกเดิน
ทางที่เดินนั้นลงไปบางปลาสร้อย แล้วจึงเวียนกลับขึ้นไปปราจิณ นครนายก ไปพระบาท
แล้วเดินลงมาทางสระบุรี ถ้ามาตามทางรถไฟแต่ไม่ขึ้นรถไฟเว้นแต่พระที่เมื่อยล้าเจ็บไข้
ผ่านกรุงเทพฯ กลับลงไปบางเหี้ย
ออกเดินทางอยู่ในแรมเดือนยี่กลับไปวัดอยู่ในราวเดือนห้าเดือนหก
ประพฤติเป็นอาจิณวัตรเช่นนี้มา 40 ปีแล้ว
คุณวิเศษที่คนเลื่อมใสคือ ให้ลงตะกรุด
ด้ายผูกข้อมือ รดน้ำมนต์ ที่นิยมกันมากคือ เขี้ยวเสือแกะเป็นรูปเสือ เล็กบ้าง
ใหญ่บ้าง ฝีมือหยาบๆ ข่าวที่ร่ำลือกันว่า เสือนั้นเวลาจะปลุกเสกต้องใช้หมูมาล่อ
ปลุกเสกเป่าเข้าไปเมื่อไรเสือนั้นจะกระโดดลงไปในเนื้อหมูได้
ตัวพระครูเองเห็นจะได้ความลำบากเหน็ดเหนื่อยในการที่ใครๆ
กวนให้ลงโน่นลงนี่ เขาว่าบางทีก็หนีไปอยู่ในป่าช้าที่พระบาทฯ(สระบุรี)
บางทีก็หนีไปอยู่บนเขาโพธิ์ลังกา คนก็ยังตามไปกวนไม่เป็นอันหลับอันนอน
แต่บริวารเห็นจะได้ผลประโยชน์ในการทำอะไรๆ ขาย เวลาแย่งชิงก็ขึ้นไปถึง 3 บาท ว่า 6 บาทก็มี
ได้รูปเสือนั้นแล้วจึงไปให้พระครูปลุกเสก สังเกตดูอัธยาศัยเป็นคนแก่ใจดีมีกิริยาเรียบร้อย
อายุ 70 แล้วยังไม่แก่มาก รูปร่างล่ำสันใหญ่โต
เป็นคนพูดน้อยมีคนมาช่วยพูด"
หลวงพ่อปานวัดบางเหี้ยมรณภาพไปกว่าร้อยปีแล้ว แต่ประชาชนยังเคารพรักหลวงพ่อปานอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย ทุกๆปีจะมีงานแห่รูปหล่อหลวงพ่อปานจากวัดบางเหี้ย โดยเป็นการแห่รูปหล่อหลวงพ่อปานอย่างน่าทึ่งเป็นราวกับงานมหกรรมอย่างหนึ่ง คือจะแห่รูปหล่อหลวงพ่อปานลงเรือ แล้วแล่นออกทะเลไปไกล จะมีขบวนเรือแห่ติดตามกันไปเป็นร้อยๆลำ
ภาพจาก uamulet.com |
เมื่อแห่รูปหล่อหลวงพ่อปานออกไปยังทะเลลึกแล้ว ก็จะมีประเพณีชิงธงหลวงพ่อปาน โดยเรือลำทีอัญเชิญรูปหล่อหลวงพ่อปานมาด้วยนั้น จะมีธงรูปหลวงพ่อปานลงยันต์ติดมาด้วย คนบนเรือจะเอาธงหลวงพ่อปานติดปลายไม้ไผ่ แล้วยิ่นออกไปในทะเล ขบวนเรือที่ติดตามมาด้วยก็จะเร่งเรือขึ้นมาหยิบธงหลวงพ่อปานไปให้ได้ เป็นการชิงธงหลวงพ่อปานกลางทะเลกันเลยทีเดียว พอชิงธงหลวงพ่อปานไปพอสมควรแล้วก็แห่รูปหล่อหลวงพ่อปานกลับวัด จะมีคนรอกราบนมัสการกันอย่างเนืองแน่น
ปัจจุบันนี้รูปหล่อของหลวงพ่อปานก็ยังประดิษฐานอยู่ที่วัดมงคลโคธาวาส ซึ่งปรากฏความศักดิ์สิทธิ์มีประชาชนนับถือกันมาก ต่างพากันมากราบนมัสการและขอน้ำมนต์ที่หน้ารูปหล่อของท่านเอาไปเป็นศิริมงคล
ในเรือลำที่อัญเชิญรูปหล่อหลวงพ่อปาน |
มีขบวนเรือติดตามมากมาย |
ชิงธงหลวงพ่อปานจากปลายไม้ |
ธงหลวงพ่อปานวัดบางเหี้ยใครๆก็อยากได้ |
เสี่ยงขนาดนี้ยังตามมาชิงธงหลวงพ่อปาน |
แจกธงแล้วหลวงพ่อปานกลับวัด |
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจากวิกิพิเดีย,หนังสือประวัติหลวงพ่อปานวัดมงคลโคธาวาส,uamulet.com,
หนังสือพิมพ์รอยธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น