วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต วัดระฆังฯ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี
วัดระฆังโฆษิตาราม วรมหาวิหาร

สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต วัดระฆังฯ


ประวัติความเป็นมาของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ที่จดจำเล่าขานต่อๆกันมานั้น พอได้ยินแล้วชวนให้สนุกและได้คติธรรมมากมาย เรื่องราวของสมเด็จฯโตมีมากขนาดบันทึกกันได้เป็นหนังสือเล่มใหญ่ๆ ถ้านำมาเล่าโดยละเอียดคงจะไม่ไหว ส่วนประวัติพอเป็นสังเขปพอที่จะเล่าสู่กันฟังได้แบบคร่าวมีดังนี้       
               
      เล่ากันต่อๆมาว่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ถือกำเนิดขึ้นที่บ้านไก่จ้น(ท่าหลวง) อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเกิดในเรือที่มารดาจอดไว้ที่หน้าวัดไก่จ้น ช่วงเวลาที่เกิดคือ วันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๑๕๐ เวลาพระบิณฑบาต ตรงกันสุริยคติกาล ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๓๓๑




      บิดามารดาของท่านมีเรื่องเล่ากันมาหลายกระแส สำนวนของพระครูกัลยานุกูลว่า มารดาชื่อเกตเป็นคนท่าอิฐ บิดาเป็นผู้มีบุญญาธิการสูง โดยบันทึกไว้ว่าคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สำนวนของพระยาทิพโกษาว่า มารดาชื่องุด บิดาเป็นผู้มีบุญญาธิการสูงคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้งยังเป็นเจ้าพระยาจักรี แต่เรื่องบิดาของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯโตนี้ เป็นเพียงเรื่องเล่าที่ยังไม่ยืนยันแน่ชัด คล้ายๆกับประเภทพงศาวดารกระซิบ

      ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปีพ.ศ.๒๓๔๓ ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดปรานสามเณรโตมาก พอถึงพ.ศ.๒๓๕๐ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สามเณรโตอุปสมบทเป็นนาคหลวง มีสมเด็จพระสังฆราชสุก ญาณสังวร เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า พฺรหมฺรํสี เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯรับพระภิกษุโตไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์




       พระภิกษุโตแตกฉานในพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง แต่มิได้เข้าแปลบาลีเป็นเปรียญแต่ประการใด ด้วยพระภิกษุโตมิได้สนใจในสมณศักดิ์ใดๆ แม้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงสถาปนาสมณศักดิ์เพื่อยกย่อง พระภิกษุโตก็ขอพระราชทานไม่รับ เพราะชอบสันโดษ แถมยังหนีไปธุดงค์อีกต่างหาก

          พระภิกษุโตชอบที่จะออกธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ และสร้างปูชนียวัตุที่มีขนาดใหญ่ไว้หลายแห่ง เช่น พระพุทธรูปหลวงพ่อโตวัดไชโย จังหวัดอ่างทอง  พระพุทธไสยาสน์วัดสะตือ จังหวัดอ่างทอง หลวงพ่อโตวัดอินทรฯบางขุนพรหม

          เล่ากันว่าพระพุทธไสยาสน์หรือพระนอนวัดสะตือ ท่านสร้างเป็นอนุสรณ์ว่าเกิดมานอนแบเบาะ ในละแวกวัดสะตือแห่งนี้ พระพุทธรูปนั่งหลวงพ่อโตวัดไชโยคือ สอนนั่งได้ในละแวกนี้ ส่วนหลวงพ่อโตวัดอินทร์คือท่านเริ่มยืนได้ในละแวกนี้ พระพุทธรูปแต่ละองค์มีขนาดใหญ่โตทั้งนั้น




          ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระภิกษุโตได้รับการถวายสมณศักดิ์ในปีพ.ศ.๒๓๙๕ ที่พระธรรมกิตติ นัยว่าไม่สามารถปฏิเสธรับสมณศักดิ์ได้ ขณะนั้นท่านมีอายุได้๖๕พรรษา และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ถึง พ.ศ.๒๓๙๕ ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่พระเทพกวี

          พ.ศ.๒๔๐๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ในราชทินนาม สมเด็จพระพุฒาจารย์  อเนกปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ สิริสุนทร พรตจาริก อรัญญิกคนฤสร สมณนิกรมหาปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวง




          สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ได้สร้างพระหลวงพ่อโต(พระศรีอริยเมตไตรย)ขึ้นที่วัดบางขุนพรหมใน หรือวัดอินทรวิหารในปัจจุบัน สร้างถึงพระนาภี ท่านก็มรณภาพที่ศาลา ตรงกับวันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘(๒๒มิ.ย.๒๔๑๕) สิริอายุ ๘๔ปี๖๔พรรษา

     เกร็ดประวัติของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โตมีเรื่องเล่าสืบต่อๆกันมาหลายเรื่อง ซึ่งฟังแล้วสนุกพร้อมไปกับมีอารมณ์ขันและแฝงธรรมะอีกด้วย เช่น

งมกระโหลกตักน้ำ
     ครั้งหนึ่งสมเด็จฯโตท่านไปธุระด้วยเรือ โดยมีศิษย์เป็นผู้พายเรือให้ เมื่อเสร็จกิจแล้วจึงพายเรือกลับวัด ในระหว่างทางศิษย์ของท่านหยุดพักเอากระโหลก(ขันตักน้ำ)ตักน้ำมาล้างหน้า แต่แล้วกลับทำกระโหลกตกจมน้ำหายไป ลูกศิษย์ของสมเด็จฯโตจึงจะลงไปงมในน้ำ แต่สมเด็จฯโตท่านพูดว่า ไม่ต้องงมหรอกจ้ะน้ำมันลึกจะงมไม่เจอ เดี๋ยวไปงมที่หน้าวัดระฆังก็ได้ จากนั้นจึงให้ศิษย์พายเรือกลับวัด เมื่อถึงวัดระฆังฯแล้วศิษย์จึงทดลองลงไปงมกระโหลกที่ท่าน้ำหน้าวัด ปรากฏว่าได้กระโหลกตักน้ำใบเดิมขึ้นมาจริงๆ


 ยายแฟง
     ครั้งหนึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีหญิงชื่อ ยายแฟง เป็นเจ้าของซ่องโสเภณี คนเรียกซ่องนี้ว่า "โรงยายแฟง" อยู่ที่บริเวณตรอกเต๊า ถนนเยาวราช ยายแฟงอยากสร้างวัดเพราะในยุครัชกาลที่สามนั้น ผู้ดีมีเงินนิยมสร้างวัดตามพระราชนิยม ยายแฟงเองก็มีใจศรัทธาในพุทธศาสนาอยู่เหมือนกัน เสียแต่ว่ามีอาชีพทำซ่องโสเภณี ยายแฟงชวนหญิงโสเภณีในสำนัก เรี่ยไรเงินได้จากการค้าประเวณีมาช่วยกันสร้างวัด มีหลักฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ ชื่อว่า วัดคณิกาผล

     เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้ว ยายแฟงจึงนิมนต์ขรัวโต ซึ่งต่อมาได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) มาเทศน์ฉลอง หวังจะให้เทศน์สรรเสริญคุณงามความดีของนางในครั้งนี้ต่อที่ชุมชน เพราะยายแฟงสร้างวัดตามพระราชนิยม คือรัชกาลที่สามทรงโปรดสร้างวัดบ่อยๆ ราษฎรในสมัยนั้นจึงนิยมสร้างวัดตามไปด้วย

     ขรัวโต(ท่านชอบให้ชาวบ้านเรียก)มาถึงที่วัดแล้ว ท่านกลับเทศน์สั่งสอนว่า ทำบุญเอาหน้า แม้จะเป็นบุญใหญ่ ก็ได้บุญน้อย การที่ยายแฟงมีจิตศรัทธาสร้างวัดครั้งนี้ เงินสร้างวัดของยายแฟงได้มาโดยไม่บริสุทธิ์ ยายแฟงจึงได้บุญไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย  ยายแฟงจะได้อานิสงส์เพียงแค่สลึงเฟื้องเท่านั้น




เทศน์สิบสองนักษัตร
     ครั้งหนึ่งคนของขุนนางใหญ่ท่านหนึ่งถูกใช้ให้มานิมนต์สมเด็จฯโตเทศน์ โดยนิมนต์ให้ไปเทศน์ที่บ้านในเรื่องอริยสัจ แต่ผู้มานิมนต์จำผิดๆถูกๆเลยนิมนต์ว่าให้เทศเรื่องนักษัตร ซึ่งกัณฑ์เทศน์เช่นนี้ไม่มี

     เมื่อถึงกำหนดวันนิมนต์เทศน์ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โตก็เดินทางไปถึงบ้านงาน จากนั้นท่านก็ลงมือแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องสิบสองนักษัตร โดยท่านแต่งขึ้นมาใหม่ให้ในเรื่องสิบสองนักษัตรนั้นแฝงไปด้วยอริยสัจสี่ เริ่มกันตั้งแต่ ชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม วอก ระกา จอ กุน

     แรกๆขุนนางเจ้าของงานก็ตกใจ และโกรธคนที่ไปนิมนต์สมเด็จฯโตว่าทำให้เทศน์ผิด แต่สำนวนโวหารที่สมเด็จฯโตท่านเทศน์นั้น เต็มไปด้วยสำนวนที่ไพเราะใช้คำอุปมาอุปมัยง่ายๆ ทำให้ฟังเพลิดเพลินและเข้าใจตาม ทั้งยังอยู่ในแนวของอริยสัจสี่ด้วย

     พอสมเด็จฯโตท่านเทศน์จบแล้ว ท่านก็ได้อธิบายว่า การที่ท่านได้มาเทศน์เรื่องสิบสองนักษัตรนั้น ความดีอยู่ที่คนนิมนต์ ท่านจึงเทศน์ไปตามที่นิมนต์ และเรื่องสิบสองนักษัตรแบบนี้ยังไม่เคยมีใครเทศน์มาก่อน ดังนั้นงานวันนี้จึงมีอานิสงส์มาก ท่านขุนนางใหญ่จึงปลาบปลื้มหายโกรธคนนิมนต์อีกด้วย

จุดเทียนตอนกลางวัน
     ครั้งหนึ่งผลัดแผ่นดินเป็นสมัยรัชกาลที่ ๕ ใหม่ๆ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โตได้จุดเทียนตอนกลางวัน แล้วเดินถือเทียนไปพบสมเด็จเจ้าพระยาผู้บริหารราชกาลแผ่นดิน ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาเมื่อเห็นอากัปกริยาแปลกๆของสมเด็จฯโต ก็เข้าใจได้ในทันทีจนต้องกราบนมัสการว่า โยมรู้แล้วๆ

ขรัวโตเข็นเรือ
     วันหนึ่งสมเด็จฯโตพายเรือไปกิจนิมนต์ด้วยตัวท่านเอง พอขากลับตอนพายเรือมาตามลำคลองเกิดน้ำลดพอดี เรือของท่านจึงติดเลนไปต่อไม่ได้ สมเด็จฯโตจึงลงไปเข็นเรือบนเลนด้วยตัวท่านเอง ชาวบ้านที่เห็นท่านเข็นเรือก็ร้องทักว่าเป็นสมเด็จมาเข็นเรือได้อย่างไร ท่านก็ตอบว่าตอนนี้ท่านไม่ใช่สมเด็จฯเพราะสมเด็จฯอยู่บนเรือ ดังนั้นจึงเข็นเรือได้ ข้อนี้หมายถึงว่าพัดยศสมณศักดิ์สมเด็จฯท่านวางไว้ในเรือนั่นเอง ท่านจึงเป็นแค่ขรัวโต

     เรื่องราวสนุกๆของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โตมีเกร็ดเล่าไว้มาก ทั้งเรื่องหวยที่มีคนนิยมไปขอหวยจากท่าน เรื่องคติธรรมแปลกๆเข้าใจง่ายๆก็มีมาก หรือเรื่องที่ท่านไม่ยึดติดในสมณศักดิ์ แม้แต่ยังมีเรื่องที่ท่านไปปราบแม่นาคพระโขนง

     เรื่องราวของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โตนี้มีมากมายจริงๆ ถ้าอยากทราบโดยละเอียดก็คงต้องหาหนังสือประวัติของท่านมาอ่าน ซึ่งแต่ละสำนวนเล่มใหญ่ๆทั้งนั้น หรือจะหาเป็นแผ่นซีดีมาฟังก็สนุกสนานได้คติธรรม

     ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี หรือ ขรัวโต ของประชาชน ได้รับการขนานนามจากมหาชนชาวไทยให้เป็น พระมหาอมตะเถราจารย์แห่งสยาม ซึ่งแสดงถึงความเคารพรักศรัทธาของประชาชนชาวไทยที่มีต่อท่านเป็นอย่างยิ่ง




     
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆและรูปภาพจากวิกิพิเดีย,ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โตของวัดระฆังฯ

และขอบคุณรูปภาพจากเว็บไซต์ที่หาที่มาต้นทางไม่ได้แล้ว



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น